Tuesday, November 18, 2008

วิถีธรรม วิถีพุทธ ยุทธศาสตร์บริหาร ร.พ.นครธน

วิถีธรรม วิถีพุทธ ยุทธศาสตร์บริหาร ร.พ.นครธน

ใน อดีตทุกคนจะนึกถึงโรงพยาบาล ก็ต่อเมื่อเจ็บไข้ได้ป่วยเท่านั้น แต่ปัจจุบันไม่ได้เป็นเช่นนั้นแล้ว เพราะบทบาทของโรงพยาบาลที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ลูกค้าสามารถเดินเข้าไปใช้บริการที่โรงพยาบาลได้อย่าง หลากหลายมากขึ้น ทั้งเรื่องการดูแล สุขภาพ ปรึกษาปัญหาความงาม วางแผนครอบครัว ฯลฯ

โรงพยาบาลนครธน เป็นอีกหนึ่งโรงพยาบาลเอกชนที่ประกาศเจตนารมณ์ดูแลลูกค้าแบบองค์รวม ซึ่งหมายถึงการดูแลกายไปพร้อมๆ กับการดูแลจิตใจ การพัฒนาองค์กรจึงต้องเป็นไปในแนวทางเดียวกัน

"การรักษาทางกาย เพียงอย่างเดียว บางครั้งดูเหมือนว่าผู้ป่วยหายดีแล้ว แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ การรักษาต้องไปให้ถึงต้นตอของปัญหา ดังนั้นการดูแลผู้ป่วย อาจจะต้องลงลึกไปถึงจิตใจ ดูแลไปถึงครอบครัวของผู้ป่วยด้วย"

"วิศาล สายเพ็ชร์" ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารโรงพยาบาลนครธน บอกถึงเบื้องหลังที่ต้องดูแลพนักงานลึกลงไปถึงเรื่องจิตใจ ว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะต้องการให้พนักงานดูแลผู้ป่วยที่มากกว่าความเจ็บปวดทาง กายภาพ โดยผู้บริหารที่นี้เชื่อว่าความต้องการจริงๆ ของเพื่อนมนุษย์คือการดูแลแบบองค์รวม ที่โรงพยาบาลนครธนจึงจัดให้มีบริการที่หลากหลายทั้งแพทย์แผนปัจจุบัน แพทย์แผนโบราณ แพทย์ทางเลือก เช่น การฝังเข็ม ศูนย์ความงาม เพื่อให้ผู้ใช้บริการได้มีทางเลือก ทั้งผู้ป่วยและ ผู้ที่ไม่ป่วยก็สามารถเข้ามาใช้บริการได้

วิถีธรรม วิถีพุทธ จึงเป็นยุทธศาสตร์หลักที่องค์กรแห่งนี้เลือกนำมาใช้บริหารองค์กรตั้งแต่ เริ่มก่อตั้ง พนักงานทุกคน จะได้รับการปลูกฝังให้ปฏิบัติหน้าที่ บนฐานของพุทธจิต

"โดยพื้นฐานผู้บริหารที่นี้จะมีธรรมะอยู่ในหัวใจ อยู่แล้ว เริ่มต้นจากคุณย่าถนอม ทองสิมา ผู้ก่อตั้งโรงพยาบาลนครธนก็เป็นคนธรรมะธรรมโม ผู้บริหารส่วนใหญ่ก็ผ่านการนั่งวิปัสสนากรรมฐานมาแล้วทั้งสิ้น ทุกคนจึงเชื่อว่าการทำงานโดยไม่เอาอารมณ์หรืออะไรมาปรุงแต่งก่อให้เกิด ประโยชน์กับเพื่อนมนุษย์มาก ดังนั้นการบริหารองค์กรจึงพยายามใส่ในเรื่องของการพัฒนาจิตให้กับบุคลากร สร้างทีมวัฒนธรรมนครธนขึ้นมาเพื่อให้ทุกคนดูแลผู้ใช้บริการด้วยความเอื้อ อาทร"

"วิศาล" บอกว่า เรื่องของการพัฒนาจิตใจถ้ายิ่งซึมลึก ยิ่งขยายให้แผ่กว้างมากขึ้นเท่าไร องค์กรจะเดินไปในแนวทางที่มีความเจริญเติบโตแบบยั่งยืน ซึ่งหลังนำเรื่องธรรมะมาสอดแทรกในการทำงานก็ได้รับเสียงสะท้อนจากพนักงานว่า ที่นี้อบอุ่นขึ้นเหมือนบ้าน

ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะการส่งสัญญาณให้ พนักงานทุกคนอยู่อย่างพออยู่ พอกิน เดินสายกลาง ไม่ประมาท ใช้ชีวิตตามความเป็นจริง ท่ามกลางกระแสทุนนิยมที่ไหลบ่าอย่างรุนแรง ทำให้ทุกคนสามารถใช้ชีวิตอยู่บนโลกนี้ได้อย่างมีความสุข พนักงานจึงมีความรู้สึกที่ดีและผูกพันกับองค์กรมาก

โดยในช่วงที่ผ่าน มาทางโรงพยาบาล นครธนได้ใช้กิจกรรมเป็นสื่อนำพาพนักงานให้เข้าใกล้ธรรมะมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการ ใส่บาตรประจำเดือนให้กับพนักงานที่เกิดในช่วงนั้นๆ หรือการจัดให้มีการนั่งสมาธิสวดมนต์ในช่วงเที่ยงครึ่งถึงบ่ายโมงของ ทุกวันทำงาน โดยมีผู้บริหารเป็นคนนำเจ้าหน้าที่คนไหนว่างก็เดินเข้าไปร่วมกิจกรรมได้ตลอด นอกจากนั้นยังเปิดโอกาสให้ญาติผู้ป่วยและประชาชนที่พักอาศัยอยู่บริเวณใกล้ เคียงเข้าร่วมกิจกรรมกับทาง โรงพยาบาลได้ตลอด ซึ่งบางวันญาติผู้ป่วยที่มาเฝ้าไข้ก็ขึ้นไปร่วมนั่งสมาธิสวดมนต์ ด้วยก็มี

" การที่พนักงานมีพุทธจิต ทุกคนจะให้บริการลูกค้าด้วยความจริงใจ เพราะธรรมะจะเป็นตัวควบคุมไม่ให้พนักงานไปเบียดเบียนคนอื่น แต่ขณะเดียวกันก็ต้องดูแลตัวเองไม่ให้เดือดร้อน ซึ่งนั่นหมายถึงองค์กรก็ต้องดูแลพนักงานในเรื่องของค่าตอบแทน ผลประโยชน์ต่างๆ ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม มีการพัฒนาพนักงาน มีการบริหารความเสี่ยงต่างๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น เพราะสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผล ต่อการดำเนินงานขององค์กรทั้งสิ้น"

และในวันที่ธุรกิจมีการแข่งขัน กันอย่าง ดุเดือด "วิศาล" มองว่าหากโรงพยาบาล นครธนเดินเครื่องเรื่องวิถีธรรม วิถีพุทธอย่างเต็มที่ พนักงานก็จะทำงานด้วยความสบายใจ เพราะองค์กรมีความเอื้ออาทรให้กับพนักงานทุกคน ดูแลเพื่อนมนุษย์ด้วยความเป็นมนุษย์จริงๆ ไม่ได้ดูแลเพื่อนมนุษย์ด้วยวัตถุหรือเงินทองเพียงอย่างเดียว

ใน ด้านผู้มาใช้บริการก็เช่นเดียวกัน โรงพยาบาลก็ไม่ได้รักษาแค่เพียงกายอย่างเดียว แต่เข้าไปถึงจิตใจลึกๆ ของผู้ใช้บริการด้วย ซึ่งการดำเนินการตรงนี้ไม่เพียงแต่สร้างความผูกพันระหว่างโรงพยาบาลกับผู้ ใช้บริการเท่านั้น แต่ยังทำให้เพื่อนมนุษย์มีความเป็นเนื้อเดียวกัน ไม่รังเกียจว่าเป็นชาติไหน ศาสนาใด ไม่มีใครด้อยกว่ากัน ทุกคนเท่าเทียมกันหมด

การบริหารจัดการองค์กรแบบองค์รวมแม้จะเป็น นโยบายที่ดี แต่ในทางปฏิบัติคงต้องยอมรับว่า ต้องใช้เวลาและกระบวนการขับเคลื่อนหลายอย่าง โรงพยาบาล นครธนจึงได้เปิดพื้นที่ส่วนหนึ่งให้นิสิตปริญญาโทของมหาจุฬาลงกรณ์ ที่ศึกษาเรื่องชีวิตและความตาย (life and die) เข้ามาใช้สถานที่ในการศึกษาวิจัย

ซึ่งนิสิตกลุ่มนี้จะเข้ามาดูชีวิต ของผู้ป่วยในแบบลงลึกไปถึงชีวิตความเป็นอยู่ในครอบครัว ซึ่งหลายกรณีทำให้ชีวิตผู้ป่วยพลิกไปในทิศทางที่

ดีขึ้น เช่น กรณีของเด็กหนุ่มที่ดื่มเหล้าหนักจนเกิดอุบัติเหตุสูญเสียแขนไปข้างหนึ่ง โดยปกติโรงพยาบาลรักษาแผลทางกายภาพหายก็ให้เขากลับบ้าน หลายคนทำใจไม่ได้ ไม่รู้ว่าจะใช้ชีวิตอย่างไรต่อไป แต่เมื่อนิสิตกลุ่มนี้เข้าไปดูแลเรื่องจิตใจหากลไกที่ทำให้ ผู้ป่วยเข้าใจชีวิตมากขึ้น เอาวิถีธรรมะเข้าไปจับ วิกฤตในชีวิตอาจกลายเป็นโอกาสที่จะทำให้ผู้ที่คิดว่าตัวเองโชคร้ายดีขึ้น

กรณี ศึกษาต่างๆ ก็จะถูกเก็บเป็นบันทึก รวบรวมไว้ที่เดียวกับเรื่องดีๆ ที่พนักงานได้พบเจอแล้วนำมาไล่เรียงเป็นบทความ ในลักษณะของ love diary ให้เพื่อนๆ ได้เรียนรู้ร่วมกัน เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นความสวยงามที่จะสร้างพลังจิตใจของมนุษย์ในการที่จะให้ บริการที่ดีกับผู้มาใช้บริการโดยอัตโนมัติ

แล้วถ้าวันใดที่วิถี ธรรม วิถีพุทธเข้ามาอยู่ในองค์กรนี้อย่างเข้มแข็ง ไม่ว่าจะเป็นบุคลากร ผู้ใช้บริการ หรือชุมชนก็จะได้รับสิ่งดีๆ ตามไปด้วย

"บางครั้งดู เหมือนว่าเราศึกษาเทคโนโลยีกันพอสมควร แต่ถามว่าได้ศึกษาตัวเองกันบ้างไหม จะพบว่าเราใช้เวลาในการศึกษาตัวเอง ดูเรื่องกาย ใจน้อยมาก ซึ่งถ้าเรารู้จักและเข้าใจสิ่งเหล่านี้ดีก็จะขยายผลกับคนอื่นๆ ได้ ที่องค์กรแห่งนี้จึงอนุญาตให้ พนักงานไปนั่งสมาธิหรือปฏิบัติธรรมได้ปีละ 7 วัน 8 คืน โดยไม่นับว่าเป็นวันลา"

"ถ้าเจ้าหน้าที่มีสติอยู่กับตัว เองตลอด เวลาเช็ดตัวผู้ป่วยก็จะรู้ว่ากะละมัง เป็นอย่างไรสะอาดหรือไม่สะอาด ผ้าที่ใช้เช็ดตัวเป็นอย่างไร เวลาพูดคุยกับญาติผู้ป่วยก็จะคุยด้วยความนุ่มนวล และตัวเขาเองก็จะมีความภาคภูมิใจ มีความสุขในการทำงาน ซึ่งถ้ามองให้ครบวงจร การดำเนินงานตามวิถีพุทธ วิถีธรรม ผู้ใช้บริการก็ชื่นชม ขอบคุณ พนักงานก็มีความสุขไปในเวลาเดียวกัน"

วันนี้ แม้โรงพยาบาลจะไม่ใช่สถานที่ สุดท้ายที่ดูแลใจของผู้ป่วย แต่อย่างน้อยกลิ่นอายของธรรมะที่ฟุ้งกระจายอยู่ในองค์กร ก็ช่วยให้จิตใจของผู้คนผ่อนคลาย ไม่ลุกเป็นไฟไปกับอุณหภูมิการเมือง อุณหภูมิโลก