Wednesday, January 14, 2009

ความตาย..

ความตาย..

Posted by forgive , ผู้อ่าน : 180 , 14:50:52 น.   | หมวดหมู่ : ความตาย 

[Image] พิมพ์หน้านี้

 

     มรณ = ความตาย เหตุที่ทำให้ความตายปรากฏขึ้นมี ๔ อย่าง คือ

     ๑. ความตายเพราะสิ้นอายุ

     ๒. ความตายเพราะสิ้นกรรม

     ๓. ตายเพราะสิ้นอายุและสิ้นกรรมทั้งสอง

     ๔. ตายเพราะประสบอุปัทวเหตุ โดยอายุและกรรมยังไม่สิ้น 

 

     เป็น ธรรมดาของสัตว์โลก ย่อมมีความตายเป็นที่สุด เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงปลงอายุสังขารแล้วตรัสเตือนภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราขอเตือนพวกเธอ สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมเป็นธรรมดา พวกเธอจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม ความปรินิพพานแห่งตถาคตจักมีในไม่ช้า โดยล่วงไปอีก ๓ เดือนแต่นี้ ตถาคตจักปรินิพพานแล้วตรัสว่า คนเหล่าใดทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่ ทั้งพาลทั้งบัณฑิต ทั้งมั่งมีทั้งขัดสน ล้วนมีความตายเป็นเบื้องหน้า ภาชนะดินที่นายช่างหม้อกระทำแล้ว ทั้งเล็กทั้งใหญ่ ทั้งสุกทั้งดิบ ทุกชนิดมีความแตกเป็นที่สุดฉันใด ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายก็ฉันนั้น

 

     ถ้าจะเปรียบเทียบการตายของสัตว์ทั้งหลายกับเหตุให้ความตายปรากฏขึ้น ๔ อย่างแล้ว สามารถอธิบายได้ดังนี้...

 

     ๑. ชีวิตสัตว์ทั้งหลายเหมือนดวงประทีปที่จุดไว้ ต้องดับลงคือสิ้นชีวิตโดยหมดอายุขัย ก็เหมือนดวงประทีปดับลงเพราะ 'ไส้หมด' แต่ 'น้ำมันยังอยู่'

     ๒. ผู้ที่สิ้นชีวิตลงโดยหมดกรรมก็เหมือนประทีปดับลงเพราะ 'น้ำมันหมด' แต่ 'ไส้ยังอยู่'

     ๓. ผู้ที่สิ้นชีวิตลงโดยหมดทั้งอายุและกรรมก็เหมือนประทีปดับลง เนื่องจาก 'ทั้งไส้และน้ำมันหมด' ทั้งสองอย่าง

     ๔. ผู้ที่สิ้นชีวิตลงโดยประสบอุปัทวเหตุต่างๆ นั้น ก็เหมือนดวงประทีปดับลง เนื่องจาก 'ถูกลมพัด หรือถูกเป่าให้ดับ' โดยที่ 'ไส้และน้ำมันยังอยู่'

 

ตายเพราะสิ้นอายุ

 

     คำว่า 'อายุ' หมายถึง อายุขัย ซึ่งเป็นการกำหนดขอบเขตแห่งการตั้งอยู่แห่งชีวิตรูป เป็นกัมมชรูปผู้รักษาชีวิตของสัตว์ให้เป็นอยู่ได้ในชาติหนึ่งๆ... เมื่อว่าโดยบุคคล คือ การตายเพราะ 'สิ้นอายุ' หมายถึง ตายเมื่อแก่ คือ ถึงความชราแล้วจึงตาย

 

     ใน สมัยพุทธกาล มนุษย์มีอายุขัย ๑๐๐ ปี โดยประมาณ นับแต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว อายุขัยก็ลดลงในอัตราส่วน ๑๐๐ ปีลดลง ๑ ปี ขณะนี้ล่วงเลยไป ๒๕๐๐ ปี มนุษย์ปัจจุบันจึงมีอายุขัยประมาณ ๗๕ ปีเพราะอายุขัยของมนุษย์ไม่แน่นอน มีขัยขึ้นและขัยลง ซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงขัยลง ส่วนอายุของเหล่าเทวดาหรือพรหม ต่างก็มีขอบเขตอายุตามภูมิของตนที่เกิดอยู่ปัจจุบันกำหนด ๗๕ ปี เป็นอายุขัย

 

     ดัง นั้นมนุษย์ทั้งหลายในโลกนี้แม้ว่าอำนาจกรรมยังมีอยู่ แต่เมื่อครบอายุขัยก็ตายไปเป็นส่วนมาก ผู้ที่มีอายุยืนเกินกว่าอายุขัยที่กำหนดไว้นั้น ก็มีบ้าง แต่หาได้ยาก ท่าน เหล่านั้นต้องมีอดีตกรรมที่เกี่ยวกับการไม่ฆ่าสัตว์ ไม่เบียดเบียนสัตว์จะช่วยอุปถัมภ์ชีวิตและร่างกายให้อยู่ได้นานเป็นพิเศษ หรือมิฉะนั้นด้วยอำนาจชนกกรรมยังมีกำลัง และปัจจุบันมีกรรมฝ่ายดี คือการรักษาศีล ๕ ไว้ได้บริสุทธิ์ หรือมีการรักษาสุขภาพอนามัยไว้อย่างดีต่างๆ เหล่านี้จะช่วยให้ผู้นั้นมีอายุเกินขัยได้ มีผู้อายุยืนถึง ๙๐ กว่าปีก็ยังมี ปรากฏอยู่ ในสมัยพุทธกาลนั้น กำหนดอายุขัยไว้ ๑๐๐ ปี แต่ผู้อายุยืนกว่า ๑๐๐ ปี ก็มีหลายท่าน เช่น พระอานนท์ พระมหากัสสป นางวิสาขา มีอายุ ๑๒๐ ปี พระพากุลเถระ มีอายุ ๑๖๐ ปี เป็นต้น

 

ตายเพราะสิ้นกรรม

 

     คำว่า 'กรรม' ใน ที่นี้ หมายถึง ชนกกรรมที่ส่งผลให้เกิดในภพนั้นๆ และอุปถัมภกกรรม มีหน้าที่อุดหนุนให้รูปนามที่เกิดจากชนกกรรมตั้งอยู่ได้นานๆในภพนั้น การสิ้นสุดแห่งกรรมทั้งสองที่ชื่อว่า ตายเพราะสิ้นกรรม ฉะนั้นผู้ที่เกิดมาและอยู่ด้วยกรรมทั้งสองนี้ บางคนตั้งเพียง ๑ เดือนบ้าง ๑ ปีบ้าง หรือ ๕ ปี ๑๐ ปี เหล่านี้ย่อมกล่าวได้ว่า เป็นการตายเพราะกรรมสิ้นสุดลง

 

ตายเพราะสิ้นสุดแห่งอายุและกรรมทั้งสอง

 

     ความ ตายชนิดนี้ก็หมายถึง ผู้ตายนั้นมีอายุยืนอยู่ได้จนครบอายุขัย และอำนาจของชนกกรรมก็พอดีหมดลงพร้อมกับความสิ้นสุดแห่งอายุ เช่นผู้ที่เกิดมาในสมัยกำหนดอายุ ๗๕ ปี เป็นอายุขัยและอำนาจของกุศลชนกกรรมของผู้นั้นก็มีอำนาจอยู่ได้ ๗๕ ปีเช่นเดียวกัน เมื่อผู้นั้นมีอายุ ๗๕ ปีแล้วตายลงก็กล่าวได้ว่า ความตายของผู้นั้นเป็นการตายแบบสิ้นทั้งอายุและกรรมทั้งสองได้.. แม้อบายสัตว์ก็เช่นเดียวกัน เช่นสุนัข มีอายุขัยกำหนด ๑๐-๑๒ ปี และสุนัขนั้นเกิดด้วยอำนาจอกุศลชนกกรรมก็อยู่ได้ครบ ๑๐-๑๒ ปี แล้วตายลง ก็กล่าวได้ว่า สุนัขนั้นตายแบบสิ้นทั้งอายุและกรรมทั้งสองได้  

 

การตายเพราะประสบอุปัทวเหตุ โดยอายุและกรรมยังไม่สิ้น

 

     เป็นการตายเพราะมีกรรมอื่นเข้าไปตัดวิบากและกัมมชรูป ที่เกิดจากชนกกรรมให้สิ้นสุดลง กรรมนั้นได้แก่ อกุศลกรรม, มหากุศลกรรม, อร หัตตมัคกรรม ผู้ที่มีอายุยังไม่เข้าถึงขีดอายุขัย และอำนาจของชนกกรรมก็ยังไม่หมด แต่ด้วยอำนาจแห่งอกุศลกรรม หรือกุศลกรรมที่ได้ทำมาแล้วในภพก่อนหรือภพนี้ เข้ามาตัดรอนให้ผู้นั้นตายลงเสียก่อน ซึ่งเปรียบได้กับดวงไฟที่ไส้ยังอยู่ น้ำมันก็ยังอยู่แต่ไฟต้องดับลงด้วยเหตุอื่น เช่นถูกลมพัด ถูกน้ำ เป็นต้น...

 

     ตัวอย่าง อกุศลกรรมตัดรูปนามที่เกิดจากกุศล เช่นถูกศัตรูฆ่าตาย ถูกสัตว์ทำร้ายถึงแก่ความตาย แม้ด้วยความพยายามของตนเอง เช่น ฆ่าตัวตาย กระโดดน้ำตาย เป็นต้น.. หรือสัตว์เดรัจฉาน เช่น สุนัข รูปนามเกิดจากอกุศลชนกกรรม มีอายุเพียง ๑ ปี หรือ ๒ ปี ถูกรถทับตาย เป็นต้น.. ตัวอย่าง กุศลกรรมตัดอกุศลชนกกรรม เช่นสัตว์นรก เมื่อพญายมราชเตือนสติให้ระลึกถึงกุศลที่ทำไว้ ได้กุศลนั้นก็ตัดรูปนามสัตว์นรกนั้นถึงแก่ความตาย ไปเกิดใหม่ในมนุษย์ หรือเทวดาทันที เป็นต้น.. หรืออรหัตมัคกรรมตัดรูปนามของฆราวาสผู้เป็นพระอรหันต์ ถ้ามิได้อุปสมบทภายใน ๗ วัน จะต้องสิ้นชีวิต หรือปรินิพพานใน ๗ วันนั้นเอง 

 

     ความตายทั้ง ๔ อย่างนี้ ตายโดยสิ้นกรรม ตายโดยสิ้นอายุ ตายโดยสิ้นทั้งกรรมและอายุ ทั้ง ๓ นี้ เป็นการตายที่ถึงเวลา เรียกว่า 'กาลมรณะ' ส่วนการตายแบบอุปัทวเหตุอย่างใด อย่างหนึ่งก็ตามเป็นการตายที่ยังไม่ถึงเวลา เรียกว่า 'อกาลมรณะ'

 

     อกาล มรณะ นี้ในสังยุตตบาลี แสดงไว้ว่า ดูก่อนมหาราชา ในโลกนี้ผู้ใดทำให้คนอื่นตายลงด้วยการอดข้าว ผู้นั้นแม้ยังอยู่ในวัยเด็กก็ตาม วัยหนุ่มสาวก็ตาม วัยชราก็ตาม ย่อมได้รับการเบียดเบียนด้วยการอดข้าว และตายลงด้วยความหิวข้าวนั้นเอง เป็นดังนี้ตลอดแสนชาติ หมายความว่า ผู้ที่เคยทำให้ผู้อื่นตายลงด้วยการอดน้ำ ให้งูกัด วางยา เอาไฟเผา ถ่วงน้ำ หรือฆ่าใช้อาวุธเหล่านี้ เป็นต้น ผู้นั้นก็ย่อมตายด้วยการอดน้ำ ถูกงูกัด ถูกวางยา ถูกไฟคลอก จมน้ำ ถูกอาวุธ เช่นเดียวกัน แสดงว่า อกาลมรณะเหล่านี้ จะเว้นเสียจากอดีตกรรมไม่ได้ จึงเรียก อกาลมรณะนี้ว่า 'อุปัจเฉทกกรรม' คือ 'กรรมที่มาตัดรอน' นั่นเอง 

 

     ความ ตายที่เป็น อกาลมรณะนี้ รวมถึงเหตุการณ์สึนามิในปีพ.ศ. ๒๕๔๗ และอุบัติเหตุเครื่องบินตกทั้งหลายด้วย และยังรวมถึงการปฎิบัติตนเป็นไปไม่สม่ำเสมอ ไม่มีปัญญาที่จะบำรุงรักษาร่างกายให้มีชีวิตยืนยาวอยู่ได้ตลอดอายุขัย ไม่ได้เปลี่ยนอิริยาบถใหญ่ให้เป็นไปโดยสม่ำเสมอ มัวปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรมด้วยอำนาจกิเลส คือ ความโลภบ้าง ความโกรธบ้าง ความเห็นผิดบ้าง หรือคิดไม่ถึงบ้าง ทำให้คนทั้งหลายต้องตายลงโดยกาลอันไม่สมควรนี้เป็นส่วนมาก 

 

     ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของมรณะ คือความตายของสัตว์โลกที่เป็นไปในสังสารวัฏนี้           

 

บทความโดย อาจารย์สุคนธ์ สุ่นศิริ

 

http://www.raksa-dhamma.com

 

*****

 

เห็นคนตายก็หมายรู้เดี๋ยวกูด้วย            อีกไม่ช้าชราป่วยแล้วม้วยสูญ

 

ศพวางนอนอย่างขอนไม้คล้ายอิฐปูน    รอขึ้นเผาให้เอาศูนย์มานับกาย

 

เหลือเพียงชื่อให้ลือจำทำไมเล่า          เขาก็รอคอขึ้นเขียงเรียงจากหาย

 

เหมือนกับเราเฝ้าจดจำแล้วกลับตาย     ชื่อก็วายกายก็วางว่างหมดกัน

 

บทกลอนจากหนังสือ "ทางนฤพาน" บทที่ ๒๔ โดย ดังตฤณ

สำนักพุทธฯเสนอแนวทางพระเทศน์ปี 52

สำนักพุทธฯเสนอแนวทางพระเทศน์ปี 52 [3 ม.ค. 52 - 04:21]

 

[Image]ดร.อำนาจ  บัวศิริ  ผอ. สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) กล่าวว่า ขณะนี้ตนได้ร่างแผนแม่บทในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาเสร็จแล้ว โดยหลักๆจะมีการกำหนดแนวทางในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในปี 2552 ประกอบด้วย 1. ส่งเสริมการเผยแผ่พระพุทธศาสนา โดยตั้งเป้าให้วัด 1 แห่ง ต้องเผยแผ่พระพุทธศาสนาสู่ประชาชนให้ได้มากที่สุด เบื้องต้นจะกำหนดให้ 1 วัด ต่อ 1,000 คน พร้อมทั้งแนวทางในการพัฒนาพระสงฆ์ ซึ่งในขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการในส่วนของการพัฒนาเจ้าอาวาสวัดทุกแห่ง ให้มีความรู้ในระดับปริญญาตรีแล้ว โดยกำหนดให้มีเจ้าอาวาสเข้าร่วมโครงการปีละ 5,000 รูป และเจ้าอาวาสรุ่นแรก ที่เข้าร่วมโครงการกำลังศึกษาอยู่ในชั้นปีที่ 3 ของทั้งมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) และมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร.) 2. การสร้างเครือข่ายในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาร่วมกับองค์กรทางพระพุทธศาสนาต่างๆ 3. การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา 4. การ ดูแลสุขภาพของพระสงฆ์ โดยทาง พศ. กำลังประสานไปยังโรงพยาบาลสงฆ์ เพื่อขอข้อมูลสาเหตุในการอาพาธของพระสงฆ์ที่เข้ามารับการรักษา เพื่อหาแนวทางดูแลสุขภาพพระสงฆ์ต่อไป และ 5. แนวทางการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนพระปริยัติธรรม

 

ผอ.สำนักเลขาธิการมหาเถรฯกล่าวต่อว่า ใน วันที่ 22 ม.ค. 2552 จะมีการประชุม ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด (พศจ.) ทั่วประเทศ และจะมี การแจกร่างแผนแม่บทการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในปี 2552 ให้แต่ละจังหวัดไปดำเนินการ จากนั้นในช่วง เดือน ก.พ. จะให้ พศจ. ส่งแนวทางในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของแต่ละจังหวัดกลับมาที่ พศ. เพื่อเตรียม รวบรวมนำเสนอต่อคณะกรรมการเผยแผ่พระพุทธศาสนา แห่งชาติ ซึ่งมีพระพรหมโมลี วัดพิชยญาติการาม เป็น ประธาน ที่คาดว่าจะสามารถประชุมได้ประมาณเดือน มี.ค. เพื่อออกเป็นแผนแม่บทในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาทั่วประเทศต่อไป  ขณะ เดียวกันในส่วนของแนวทางการเทศน์ของพระสงฆ์ทั่วประเทศนั้น จะเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการเผยแผ่พระพุทธศาสนาแห่งชาติด้วยว่า ควรจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อสอนให้ประชาชนสามารถใช้ชีวิตอยู่ในสภาวะที่ ประเทศกำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำได้.

วิธีอ่านบาลี

วิธีอ่านบาลี

 

การอ่านคำบาลีนี้ยังมีหลายท่านที่อ่านไม่สู้จะถูกนัก เพราะว่ายังไม่เคยชินต่อคำเหล่านี้ดังนั้นเพื่อกันความผิดพลาดในเวลาออก เสียงจึงได้พิมพ์ถวายพระสังฆาธิการทุกท่านดังต่อไปนี้

 

1. พยัญชนะที่ไม่มีสระอาศัยอยู่ด้วย ให้อ่านออกเสียงสระ อะ เช่น

 

 

นโม ออกเสียงว่า นะโม

ปฏิปทา ออกเสียงว่า ปะฏิปะทา

อนาฤลา ออกเสียงว่า อะนากุลา

 

 

 

2. พยัญชนะที่ไม่มีสระอาศัยอยู่ แต่มีตัวสะกดอยู่หลัง มี พินทุ ( ฺ) อยู่ ใต้ตัวสะกดนั้นพินทุนั้นเท่ากับไม้หันอากาศ เช่น

 

 

อคฺคโต ออกเสียงว่า อัคคะโต

ธมฺมทฺธโร ออกเสียงว่า ธัมมัทธะโร

 

 

 

3. พยัญชนะที่มีสระอาศัยอยู่ มีตัวสะกดอยู่หลัง มีพินทุ ( ฺ ) อยู่ใต้ ตัวสะกดนั้นให้อ่านออกเสียงเท่ากับตัวนั้นเป็นตัวสะกดเฉยๆ เช่น

 

 

ภิกฺขโร ออกเสียงว่า ภิกขะโร

โมคฺคลฺลานํ ออกเสียงว่า โมคคัลลานัง

ปุญญกฺเขตฺตํ ออกเสียงว่า ปุญญักเขตตัง

 

 

 

4. ศัพท์ที่ลงท้ายด้วย ตฺวา ตฺวาน ปัจจัย ต้องออกเสียงตัว ตฺ สะกด และออกเสียงตัวของมันเองด้วย แต่เสียงนั้นสั้น เช่น

 

 

กตฺวา ออกเสียงว่า กัตวา

คเหตฺวา ออกเสียงว่า คะเหตวา

สุตฺวา ออกเสียงว่า สุตวา

 

 

 

โปรดสังเกตุว่า ต้องมีพินทุ ( ฺ ) อยู่ใต้ตัวสะกดด้วย ถ้าไม่มีพินทุ ให้ ออกเสียงตามตัวของมันเอง เช่น

 

สุตวา ออกเสียงว่า สุตะวา

 

 

5. มีคำอยู่สองสามคำ ซึ่งต้องอ่านออกเสียงทั้งเป็นตัวสะกดและตัว ของมันเอง แต่ตัวของมันเองนั้นสั้นมาก เช่น

 

ภวตฺวนฺตราโย ออกเสียงว่า ภะวัตวันตะราโย

สกฺยปุตฺโต ออกเสียงว่า สักยะปุตโต

ตุณหี ออกเสียงว่า ตุณหี

ภาคยํ ออกเสียงว่า ภาคยัง

ตสฺมา ออกเสียงว่า ตัสหมา

ตสฺมิ ํ ออกเสียงว่า ตัสหมิง

ภทฺรานิ ออกเสียงว่า ภัททรานิ

 

6. ถ้ามีตัว ร อยู่ท้ายตัวสะกด ให้ออกเสียงกล้ำกัน เช่น

 

 

ตดฺร ออกเสียงว่า ดัตตระ

พฺรหฺมานํ ออกเสียงว่า พรำมานัง

พฺราหฺมเฌ ออกเสียงว่า พรามมะเฌ

อินฺทฺริยานิ ออกเสียงว่า อินทริยานิ (ไม่ใช่อินชียานิ)

 

 

 

7. พยัญชนะตัวใดที่มีพินทุ (.) อยู่ใต้ตัวของมันเอง ให้อ่านออกเสียง ตัวของมันเองเท่านั้น เช่น

 

 

ทฺวิ ออกเสียงว่า ทะวิ

เทฺว ออกเสียงว่า ทะเว

กาเตฺว ออกเสียงว่า กาตเว

จิตฺตเกฺลเสหิ ออกเสียงว่า จิตตักเลเสหิ

จกฺขฺวายตนํ ออกเสียงว่า จักขวายะตะนัง

 

 

 

8. พยัญชนะตัวใด มีนิคหิต ( ํ) อยู่ข้างบนไม่มีสระอยู่ด้วย ( ํ ) นั้น เท่ากับ อัง เช่น

 

 

พุทธํ ออกเสียงว่า พุทธัง

อกํสุ ออกเสียงว่า อะกังสุ

อุปาทานํ ออกเสียงว่า อุปาทานัง

 

 

 

9. พยัญชนะตัวใดที่มี นิคหิต ( ํ ) อยู่บน และมีสระอยู่ด้วย

นิคหิตนั้น เท่ากับ ง สะกด เช่น

 

ธมฺมจาริ ํ ออกเสียงว่า ธัมมะจาริง

กาตุ ํ ออกเสียงว่า กาตุง

 

 

 

10. คำใดมีตัวสะกดด้วย เอยฺย ให้อ่านออกเสียง ไอ๊ยะ สั้นๆ เช่น

 

 

ภาเสยฺย ออกเสียงว่า ภาไส๊ยยะ

กเรยฺย ออกเสียงว่า กะไร๊ยยะ

 

 

 

11. คำใดที่สะกดด้วย อิยฺ ให้อ่าน อี โดยใช้ฟันล่างและฟันบนกดกัน และออกเสียง เช่น

 

 

นิยฺยานิโก ออกเสียงว่า นียยานิโก

 

 

 

12. พยัญชนะตัว ฑ นางมณโฑ ในภาษาบาลีให้ออกเสียงตัว ด เด็ก หมด เช่น

ปณฺฑิโต ออกเสียงว่า ปันดิโต

มณฺฑน ออกเสียงว่า มันดะนะ

หลักการบริโภคสื่อ : ข่าวสารที่ท่านรับรู้......เชื่อได้หรือไม่ ??? : หลัก กาลามสูตร

หลักการบริโภคสื่อ : ข่าวสารที่ท่านรับรู้......เชื่อได้หรือไม่ ???    

 

        มีหลายสิ่งหลายอย่างหรือหลาย เหตุการณ์ ทำให้เราสงสัยว่าจริง ไม่จริง ถูกต้อง ไม่ถูกต้อง มีโทษ ไม่มีโทษ ควรที่เรา จะเชื่อถือได้มากน้อยเพียงใด แต่ในส่วนใหญ่แล้วไม่ค่อยจะได้คิดกัน หรือสงสัยกัน จะเชื่อถือหรือ รับเอามาปฏิบัติ โดยทันทีที่เขาบอกว่าดี ถูกต้องแล้ว ถ้าเป็นอย่างนี้ก็บอกได้เลยว่า สังคมเรากำลังอ่อนแออย่างมาก ถูกปั่นหัวได้โดยง่าย ยิ่งทุกวันนี้การสื่อสารมีประสิทธิภาพสูงมาก เมื่อมีเหตุการณ์อะไรที่น่าสนใจ เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นมุมไหน ของโลก เพียงชั่วครู่ก็สามารถกระจายข่าวให้รับรู้กันได้ทั่วโลก ในแต่ละวันเราได้รับข่าวสารมากมายและ มันก็ไม่่เป็น ที่แน่นอน ว่าจะถูกต้องดี งามไปทั้งหมด       

 

     กาลามสูตรกังขานิยฐาน 10 หมายถึง วิธีปฎิบัติในเรื่องที่ควรสงสัย หรือหลักความเชื่อ ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ในกาลามสูตร

 

        1.  อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการฟังตามกันมา ( มา อนุสฺสเวน)         

 

                          ตัวอย่าง         อย่าได้ยึดถือตามถ้อยคำที่ได้ยินได้ฟังมา   ประเภท "เขาว่า"    " ได้ยินมาว่า" ทั้งหลาย  

 

        2. อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการถือสืบๆกันมา ( มา ปรมฺปราย)

 

                         ตัวอย่าง         อย่าได้ยึดถือถ้อยคำสืบๆกันมา ประเภท "ใครๆว่า" "โบราณว่า" ตามกระแส

 

        3.   อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการเล่าลือ ( มา อิติกิราย)

 

                        ตัวอย่าง          อย่าได้ยึดถือโดยความตื่นข่าวว่า เข่าว่าอย่างนี้ ประเภทข่าวลือ ข่าวโคมลอย ทั้งหลาย

 

        4.   อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการอ้างตำรา หรือคัมภีร์ ( มา ปิฏกสมฺปทาเนน)

 

                        ตัวอย่าง          อย่าได้ยึดถือโดยอ้างตำรา อย่าไปตามตำรามากนัก ตำราว่าอย่างนั้น ต้องออกมาเป็นอย่างนั้น เท่านั้น เป็นอย่างอื่นไปไม่ได้เด็ดขาด เพราะอย่าลืมว่า ตำราบางเล่ม คนแต่งก็มั่วมาบ้าง เขียนไม่ครบบ้าง ใส่ไข่เอาเองบ้าง คนมีกิเลสไปแก้ไขตำรา คนมีผลประโยขน์ ไม่แก้ไขตำราเท่ากับเราโดนหลอก

 

        5.   อย่าปลงใจเชื่อ เพราะตรรก ( มา ตกฺกเหตุ)

 

                         ตัวอย่าง           อย่าได้ยึดถือโดยนึกเดาเอาเอง เช่น เข้าใจเอาเอง หรือข้อมูลไม่พอ ใจร้อนเดาสุ่มเอา มั่วๆ เอา

 

         6.   อย่าปลงใจเชื่อ เพราะอนุมาน ( มา นยเหตุ)

 

                         ตัวอย่าง          อย่าได้ยึดถือโดยการคาดคะเน การคาดการณ์ตามประวัติศาสตร์ ตามสถิติ ความน่าจะเป็น ซึ่งอาจจะผิดก็ได้ เพราะเห็นแค่ร้อย อย่าเหมาว่าที่ร้อยเอ็ดจะเป็นไปด้วย

 

         7.   อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการคิดตรองตามแนวเหตุผล ( มา อาการปริวิตกฺเกน)

 

                         ตัวอย่าง          อย่า ได้ยึดถือตรึงตามอาการ อย่าเห็นว่าอาการแบบนี้ น่าจะเป็นแบบนี้ ให้คิดเผื่อๆไว้ด้วย เช่น เห็นคนไข้เป็นแบบที่เคยรักษาคนอื่นๆมาก่อน อย่าไปตรึกเอาเองว่าเป็นแบบนั้น เห็นเงาก็จ่ายยาได้ เพราะเหนือฟ้ายังมีฟ้า อย่าเข้าข้างตนเอง นั่งสมาธิเห็นโน่น เห็นนี้ อย่านึกว่าเป็นจริง เพราะอาจจะเป็นจิตหลอกจิต

 

         8.   อย่าปลงใจเชื่อ เพราะเข้าได้กับทฤษฎีที่พินิจไว้แล้ว ( มา ทิฏฐินิชฺฌานกฺขนฺติยา)

 

                         ตัวอย่าง          อย่า ได้ยึดถือโดย ชอบใจว่า ต้องกันกับทิฐิของตัว อย่าเอาความเห็นของตนเป็นใหญ่ อะไรที่ตรงกับที่ตนคิดไว้เท่านั้นที่เชื่อได้ คนคิดแบบนี้ ดื้อตายชัก (ทิฐิ ภาษาบาลีหมายถึง ความเห็น )

 

         9.  อย่าปลงใจเชื่อ เพราะมองเห็นรูปลักษณะน่าจะเป็นไปได้ (มา ภพฺพรูปตาย) 

 

                         ตัวอย่าง            อย่าได้ยึดถือโดยเชื่อว่าผู้พูดสมควรจะเชื่อได้ ระวังจะโดนหลอก อย่าลืมว่า สี่เท้ายังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง

 

        10.  อย่าปลงใจเชื่อ เพราะนับถือว่า ท่านสมณะนี้เป็นครูของเรา ( มา สมโณ โน ครูติ) 

 

                          ตัวอย่าง           อย่า ได้ยึดถือโดยความนับถือว่าสมณะนี้เป็นครูของเรา การยึดอาจารย์ของตนเองมากไป ก็ไม่ดี ควรทำตาม ทดสอบดู ถ้าผิดพลาดก็ไม่ต้องเชื่อ ถ้าทำแล้วดีขึ้นก็แสดงว่าเชื่อได

 

       ต่อเมื่อใด รู้เข้าใจด้วยตนว่า ธรรมเหล่านั้น เป็นอกุศล เป็นกุศล มีโทษ ไม่มีโทษ เป็นต้นแล้ว จึงควรละหรือถือปฏิบัติตามนั้น 

 

      สูตร นี้ในบาลีเรียกว่า เกสปุตติสูตร ที่ชื่อกาลามสูตร เพราะทรงแสดงแก่ชนเผ่ากาละมะ แห่งวรรณะกษัตริย์ ที่ชื่อเกสปุตติยสูตร เพราะพวกกาละมะนั้นเป็นชาวเกสปุตตะนิคม ในแคว้นโกศล ไม่ให้เชื่องมงายไร้เหตุผลตามหลัก 10 ข้อ

 

กาลามสูตร 

 

         { น.๑๗๙ }[ ๕๐๕] ส มัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในโกศลชนบท พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จถึงนิคมของพวกกาลามะ ชื่อว่าเกสปุตตะ พวกชนกาลามโคตรชาวเกสปุตตนิคม ได้สดับข่าวมาว่า พระสมณโคดมศากยบุตรทรงผนวชจากศากยสกุลแล้ว เสด็จมาถึงเกสปุตตนิคม โดยลำดับ

 

ก็ กิตติศัพท์อันงามของพระสมณโคดมพระองค์นั้นแล ขจรไปแล้วอย่างนี้ว่า แม้เพราะเหตุนี้ ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์... ทรงเบิกบานแล้ว ทรงจำแนกธรรม พระองค์ทรงทำโลกนี้ พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลกให้แจ้งชัด ด้วยพระปัญญาอันยิ่งของพระองค์เองแล้ว ทรงสอนหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ให้รู้ตาม พระองค์ทรงแสดงธรรมไพเราะในเบื้องต้น ไพเราะในท่ามกลาง ไพเราะในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง ก็การได้เห็นพระอรหันต์ทั้งหลาย เห็นปานนั้น ย่อมเป็นความดีแล

 

        ครั้งนั้น ชนกาลามโคตร ชาวเกสปุตตนิคมได้เข้าไปเฝ้าผู้มีพระภาคเจ้าจนถึงที่ประทับ บางพวกถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง บางพวกได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง บางพวกนั่งประนมมือไปทางพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง บางพวกประกาศชื่อและโคตรแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง บางพวกนั่งเฉยๆ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

 

        เมื่อต่างก็นั่งลงเรียบร้อยแล้ว จึงได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า พระเจ้าข้ามีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมายังเกสปุตตนิคม สมณพราหมณ์พวกนั้น พูดประกาศแต่เฉพาะวาทะของตัวเท่านั้น ส่วนวาทะของผู้อื่นช่วยกันกระทบกระเทียบ ดูหมิ่น พูดกด ทำให้ไม่น่าเชื่อ พระเจ้าข้า มีสมณพราหมณ์อีกพวกหนึ่งมายังเกสปุตตนิคม ถึงพราหมณ์พวกนั้น ก็พูดประกาศแต่เฉพาะวาทะของตนเท่านั้น ส่วนวาทะของผู้อื่นช่วยกันกระทบกระเทียบ ดูหมิ่น พูดกด ทำให้ไม่น่าเชื่อ พระเจ้าข้า พวกข้าพระองค์ยังมีความเคลือบแคลงสงสัย ในสมณพราหมณ์เหล่านั้นอยู่ทีเดียวว่า ท่านสมณพราหมณ์เหล่านั้น ใครพูดจริง ใครพูดเท็จ

 

        พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรกาลามชนทั้งหลาย ก็ควรแล้วที่ท่านทั้งหลายจะเคลือบแคลงสงสัย และท่านทั้งหลายเกิดความเคลือบแคลงสงสัยในฐานะที่ควรแล้ว มาเถิดท่านทั้งหลาย

ท่านทั้งหลายอย่าได้เชื่อถือตามถ้อยคำที่ได้ยินได้ฟังมา อย่าได้เชื่อถือ ตามถ้อยคำสืบๆ กันมา อย่าได้เชื่อถือ โดยตื่นข่าวว่าได้ยินอย่างนี้ { น.๑๘๐ } อย่า ได้เชื่อถือ โดยอ้างตำรา อย่าได้เชื่อถือโดยเดาเอาเอง อย่าได้เชื่อถือโดยคาดคะเน อย่าได้เชื่อถือโดยความตรึกตามอาการ อย่าได้เชื่อถือโดยชอบใจว่าต้องกันกับทิฏฐิของตัว อย่าได้เชื่อถือโดยเชื่อว่าผู้พูดสมควรจะเชื่อได้ อย่าได้เชื่อถือ โดย ความนับถือว่าสมณะนี้เป็นครูของเรา

 

        เมื่อใดท่านทั้งหลายพึงรู้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านี้เป็นอกุศล ธรรมเหล่านี้มีโทษ ธรรมเหล่านี้ผู้รู้ติเตียน ธรรมเหล่านี้ใครสมาทานให้ บริบูรณ์แล้ว เป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์ เมื่อนั้นท่านทั้งหลายควรละธรรมเหล่านั้นเสีย

 

        ดูกรกาลามชนทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ?

ความโลภ เมื่อเกิดขึ้นในภายในบุรุษย่อมเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์ หรือเพื่อสิ่งไม่ เป็นประโยชน์

 

พวกชนกาลามโคตร ต่างกราบทูลว่า เพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ พระเจ้าข้า

         พ. ดูกรกาลามชนทั้งหลาย ก็บุคคลผู้โลภ ถูกความโลภครอบงำ มีจิตอันความโลภ กลุ้มรุมนี้ ย่อมฆ่าสัตว์ก็ได้ ลักทรัพย์ก็ได้ คบชู้ก็ได้ พูดเท็จก็ได้ สิ่งใดเป็นไปเพื่อสิ่ง ไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์สิ้นกาลนาน บุคคลผู้โลภย่อมชักชวนผู้อื่นเพื่อความเป็นอย่างนั้นก็ได้

 

กา. จริงอย่างนั้น พระเจ้าข้า

 

         พ. ท่านทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน?

ความโกรธ เมื่อเกิดขึ้นในภายในบุรุษ ย่อมเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์ หรือเพื่อสิ่งไม่ใช่ประโยชน์?

 

กา. เพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ พระเจ้าข้า

         พ. ดูกรกาลามชนทั้งหลาย ก็บุคคลผู้โกรธ ถูกความโกรธครอบงำ มีจิตอันความ โกรธกลุ้มรุมนี้ ย่อมฆ่าสัตว์ก็ได้ ลักทรัพย์ก็ได้ คบชู้ก็ได้ พูดเท็จก็ได้ สิ่งใดเป็นไปเพื่อ สิ่งไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์สิ้นกาลนาน บุคคลผู้โกรธย่อม ชักชวนผู้อื่นเพื่อความเป็นอย่างนั้นก็ได้

กา. จริงอย่างนั้น พระเจ้าข้า

 

         พ. ดูกรกาลามชนทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ?

ความหลง เมื่อเกิดขึ้นในภายในบุรุษ ย่อมเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์ หรือเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ ?

 

กา. เพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ พระเจ้าข้า

         พ. ดูกรกาลามชนทั้งหลาย ก็บุคคลผู้หลง ถูกความหลงครอบงำ มีจิตอันความหลงกลุ้มรุมนี้ ย่อมฆ่าสัตว์ก็ได้ ลักทรัพย์ก็ได้ คบชู้ก็ได้ พูด เท็จก็ได้ สิ่งใดเป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์สิ้นกาลนาน บุคคล ผู้หลงย่อมชักชวนผู้อื่นเพื่อความเป็นอย่างนั้นก็ได้

กา. จริงอย่างนั้น พระเจ้าข้า

 

{ น.๑๘๑ } พ.   ดูกรกาลามชนทั้งหลาย  ท่านทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ? ธรรมเหล่านี้เป็นกุศลหรืออกุศล ?

 

กา.   เป็นอกุศล   พระเจ้าข้า

        พ. มีโทษหรือไม่มีโทษ ?

กา. มีโทษ พระเจ้าข้า

        พ. ท่านผู้รู้ติเตียนหรือท่านผู้รู้สรรเสริญ ?

กา. ท่านผู้รู้ติเตียน พระเจ้าข้า

        พ.   ใครสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว   เป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์   เพื่อทุกข์หรือหาไม่ ในข้อนี้ท่านทั้งหลายมีความเห็นอย่างไร ?

กา.ใครสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว เป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์ ในข้อนี้ข้าพระองค์ทั้งหลายมีความเห็นเช่นนี้

 

        พ.   ดูกรกาลามชนทั้งหลาย   เราได้กล่าวคำใดไว้ว่า   ดูกรกาลามชนทั้งหลาย มาเถอะท่านทั้งหลาย

        ท่าน ทั้งหลาย อย่าได้ยึดถือตาม ถ้อยคำที่ได้ยินได้ฟัง .....อย่าได้ยึดถือโดยนับถือว่าสมณะ นี้เป็นครูของเรา   เมื่อใด ท่านทั้งหลายพึงรู้ได้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านี้เป็นอกุศล   ธรรมเหล่านี้มีโทษ ธรรมเหล่านี้ท่านผู้รู้ติเตียน   ธรรมเหล่านี้ใครสมาทานให้ สมบูรณ์แล้ว   เป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์   เพื่อทุกข์   เมื่อนั้นท่านทั้งหลายควรละธรรมเหล่านั้นเสีย

เพราะอาศัยคำที่เราได้กล่าวไว้แล้วนั้น เราจึงได้กล่าวไว้ดังนี้

 

        ดูกรกาลามชนทั้งหลาย   มาเถอะท่านทั้งหลาย

             ท่าน ทั้งหลายอย่าได้ยึดถือตาม ถ้อยคำที่ได้ยินได้ฟังมา....อย่าได้ยึดถือโดย ความนับถือว่าสมณะนี้เป็นครูของเรา เมื่อใดท่านทั้งหลายพึงรู้ด้วยตนเองว่า   ธรรมเหล่านี้เป็นกุศล ธรรมเหล่านี้ไม่มีโทษ   ธรรมเหล่านี้ท่านผู้รู้สรรเสริญ   ธรรมเหล่านี้ใครสมาทานให้ บริบูรณ์แล้ว   เป็นไปเพื่อประโยชน์   เพื่อสุข เมื่อนั้นท่านทั้งหลายควรเข้าถึงธรรมเหล่านั้นอยู่ 

 

        ดูกรกาลามชนทั้งหลาย   ท่านทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ?

ความไม่โลภ เมื่อเกิดขึ้นในภายในบุรุษ ย่อมเกิดเพื่อประโยชน์ หรือเพื่อสิ่งไม่ เป็นประโยชน์ ?

กา. เพื่อประโยชน์ พระเจ้าข้า

 

        พ. ดูกรกาลามชนทั้งหลาย   ก็บุคคลผู้ไม่โลภ ไม่ถูกความโลภครอบงำ มีจิตไม่ถูกความโลภกลุ้มรุมนี้   ย่อมไม่ฆ่าสัตว์   ไม่ลักทรัพย์ ไม่คบชู้ ไม่พูด เท็จ สิ่งใดย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขสิ้นกาลนาน บุคคลผู้ไม่โลภ ย่อมชักชวนผู้อื่นเพื่อความเป็นอย่างนั้น.

{ น.๑๘๒ } กา. จริงอย่างนั้นพระเจ้าข้า

 

        พ.   ดูกรกาลามชนทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ?

ความไม่โกรธ เมื่อเกิดขึ้นในภายในบุรุษ ย่อมเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์ หรือเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ ?

 

กา. เพื่อเป็นประโยชน์ พระเจ้าข้า

        พ. ดูกรกาลามชนทั้งหลาย ก็บุคคลผู้ไม่โกรธ ไม่ถูกความโกรธครอบงำ มีจิตไม่ถูกความโกรธกลุ้มรุมนี้ ย่อมไม่ฆ่าสัตว์   ไม่ลักทรัพย์ ไม่คบชู้ ไม่ พูดเท็จ สิ่งใดย่อมเป็นไปเพื่อเป็นประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขสิ้นกาลนาน บุคคลผู้ไม่โลภ ย่อมชักชวนผู้อื่นเพื่อความเป็นอย่างนั้น

กา. จริงอย่างนั้นพระเจ้าข้า

 

        พ.   ดูกรกาลามชนทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ?

ความไม่หลง เมื่อเกิดขึ้นในภายในบุรุษ ย่อมเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์ หรือเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ ?

 

กา. เพื่อประโยชน์ พระเจ้าข้า

         พ. ดูกรกาลามชนทั้งหลาย ก็บุคคลผู้ไม่หลง ไม่ถูกความหลงครอบงำ มีจิตไม่ถูกความหลงกลุ้มรุมนี้ ย่อมไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่คบชู้ ไม่พูด เท็จ สิ่งใดเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขสิ้นกาลนาน บุคคลผู้ไม่หลง ย่อมชักชวนผู้อื่นเพื่อความเป็นอย่างนั้น

กา. จริงอย่างนั้นพระเจ้าข้า

 

        พ.   ดูกรกาลามชนทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ธรรมเหล่านี้เป็นกุศลหรืออกุศล ?

 

กา. เป็นกุศล   พระเจ้าข้า

        พ. มีโทษหรือไม่มีโทษ ?

กา. ไม่มีโทษ พระเจ้าข้า

        พ. ท่านผู้รู้ติเตียนหรือท่านผู้รู้สรรเสริญ ?

กา. ท่านผู้รู้สรรเสริญ พระเจ้าข้า

        พ.   ใครสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว   เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล   เพื่อความสุขหรือหาไม่ ในข้อนี้ท่านทั้งหลายมีความเห็นอย่างไร ?

กา.   ใครสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข ในข้อนี้ข้าพระองค์ทั้งหลายมีความเห็นเช่นนี้

 

        { น.๑๘๓ พ. ดูกรกาลามชนทั้งหลาย เราได้กล่าวคำใดไว้ว่า   ดูกรกาลามชนทั้งหลาย มาเถอะท่านทั้งหลาย

         ท่านทั้งหลายอย่าได้ยึดถือตามถ้อยคำที่ได้ยินได้ฟังมา อย่าได้ยึดถือตามถ้อยคำที่สืบๆ กันมา อย่าได้ยึดถือโดยตื่นข่าวว่าได้ยินว่าอย่างนี้   อย่าได้ยึดถือโดยอ้างตำรา อย่าได้ยึดถือโดยคาดคะเน   อย่าได้ยึดถือโดยตรึกตามอาการ อย่าได้ยึดถือโดยชอบ ใจว่าต้องกันกับทิฏฐิของตน อย่าได้ยึดถือโดยเชื่อว่าผู้พูดสมควรเชื่อได้ อย่าได้ยึดถือโดยความนับถือว่าสมณะนี้เป็นครูของเรา เมื่อใด ท่านทั้งหลายพึงรู้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านี้เป็นกุศล ธรรมเหล่านี้ไม่มีโทษ ธรรมเหล่านี้ท่านผู้รู้สรรเสริญ ธรรมเหล่านี้ใครสมาทาน ให้บริบูรณ์แล้ว   เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข เมื่อนั้น ท่านทั้งหลายควรเข้าถึงธรรมเหล่านั้นอยู่

เพราะอาศัยคำที่เราได้กล่าวไว้แล้วนั้น   เราจึงได้กล่าวไว้ดังนี้

 

        ดูกรกาลามชนทั้งหลาย อริยสาวก นั้นปราศจากความโลภ   ปราศจากความพยาบาท ไม่หลงแล้วอย่างนี้   มีสัมปชัญญะ มีสติมั่นคง มีใจประกอบด้วยเมตตา   แผ่ไปตลอดทิศหนึ่งอยู่ ทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓ ทิศที่ ๔ ก็เหมือนกัน ตามนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง แผ่ไปตลอดโลก ทั่วสัตว์ทุกเหล่า ในที่ทุกสถาน ด้วยใจ อันประกอบด้วยเมตตาอันไพบูลย์ ถึงความเป็นใหญ่   หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ มีใจประกอบด้วยกรุณา... มีใจประกอบด้วยมุทิตา... มีใจประกอบด้วยอุเบกขา แผ่ไปตลอดทิศหนึ่งอยู่   ทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓ ทิศที่ ๔ ก็เหมือนกัน   ตามนัยนี้   ทั้งเบื้องบน   เบื้องล่าง   เบื้องขวาง   แผ่ไปตลอดโลก   ทั่วสัตว์ทุกเหล่า   ในที่ทุกสถาน   ด้วยใจอันประกอบด้วยอุเบกขาอันไพบูลย์   ถึง ความเป็นใหญ่ หาประมาณมิได้   ไม่มีเวร   ไม่มีความเบียดเบียนอยู่  

 

         ดูกรกาลามชนทั้งหลาย    อริยสาวก นั้นมีจิตไม่มีเวรอย่างนี้   มีจิต ไม่มีความเบียดเบียนอย่างนี้   มีจิตไม่เศร้าหมองอย่างนี้   มีจิตผ่องแผ้วอย่างนี้ ย่อมได้รับความอุ่นใจ   ๔ ประการ ในปัจจุบันว่า 

 

ก็ ถ้าปรโลกมีจริง ผลวิบากของกรรมทำดีทำชั่วมีจริง   เหตุนี้เป็น เครื่องให้เราเมื่อแตกกายตายไป   จักเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์   ดังนี้ ความอุ่นใจ ข้อที่ ๑ นี้ พระอริยสาวกนั้นได้แล้ว

ก็ถ้าปรโลกไม่มี ผลวิบากของกรรมทำดีทำชั่วไม่มี เราไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน ไม่มีทุกข์เป็นสุข บริหารตนอยู่ในปัจจุบัน   ดังนี้ ความอุ่นใจข้อที่ ๒ นี้ พระอริยสาวกนั้นได้แล้ว

        ก็ถ้าเมื่อบุคคลทำอยู่ ชื่อว่าทำบาป เราไม่ได้คิดความชั่วให้แก่ใคร ๆ  ไหนเลยทุกข์จักมาถูกต้องเรา ผู้ไม่ได้ทำบาปกรรมเล่า ดังนี้ ความอุ่นใจในข้อที่   ๓   นี้ พระอริยสาวกนั้นได้แล้ว  

        ก็ถ้าเมื่อบุคคลทำอยู่ ไม่ชื่อว่าทำบาป เราก็ได้พิจารณาเห็นตนว่า เป็นคนบริสุทธิ์แล้วทั้งสองส่วน   ดังนี้ ความอุ่นใจในข้อที่ ๔ นี้ พระอริยสาวกนั้นได้แล้ว

 

         ดูกรกาลามชน { น.๑๘๔ } ทั้งหลาย   อริยสาวก นั้นมีจิตไม่มีเวรอย่างนี้   มีจิตไม่มีความเบียดเบียนอย่างนี้ มีจิตใจไม่เศร้าหมองอย่างนี้ มีจิตผ่องแผ้วอย่าง นี้ ย่อมได้รับความอุ่นใจ ๔ ประการนี้แลในปัจจุบัน

 

         กา.   ข้าแต่พระผู้มีพระภาค   ข้อนี้เป็นอย่างนั้น ข้าแต่พระสุคต ข้อนี้ เป็นอย่างนั้น ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ   พระอริยสาวกนั้น   มีจิตไม่มีเวรอย่างนี้   มี จิตไม่มีความเบียดเบียนอย่างนี้   มีจิตไม่เศร้าหมองอย่างนี้   มีจิตผ่องแผ้วอย่างนี้ ท่านย่อมได้ความอุ่นใจ   ๔ ประการในปัจจุบัน...