Tuesday, April 27, 2010

รู้ทันอารมณ์ (ความโกรธ และความอยาก)

รู้ทันอารมณ์

ภาวัน

หลวงปู่ดูลย์ อตุโล เป็นศิษย์เอกรุ่นแรก ๆ ของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
ปฏิปทาของท่านงดงาม อีกทั้งคำสอนของท่านก็ลุ่มลึก
เพราะเกิดจากการปฏิบัติจนเห็นแจ้งในสัจธรรม

คราวหนึ่งมีคนถามท่านว่า "หลวงปู่ครับ
ทำอย่างไรจึงจะตัดความโกรธให้ขาดได้" ท่านตอบสั้น ๆ ว่า
"
ไม่มีใครตัดให้ขาดได้หรอก มีแต่รู้ทัน เมื่อรู้ทันมันก็ดับไปเอง"

ความโกรธนั้นก็เช่นเดียวกับอารมณ์อื่น ๆ
เราไม่สามารถตัดหรือกดข่มให้หายไปได้
การกดข่มนั้นทำได้อย่างมากก็แค่ขับไล่ให้มันหลบซ่อนอยู่ในมุมมืดของใจ
เผลอเมื่อไรมันก็โผล่มาอาละวาดใหม่ บ่อยครั้งเรากลับพบว่ายิ่งกด
มันยิ่งโผล่ ยิ่งอยากให้มันหาย มันยิ่งออกมารบกวน
เหมือนกับวัยรุ่นเกเรที่ยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ

วิธีหนึ่งที่ใช้ได้ผลในการจัดการความโกรธ คือรู้ทันมัน ปกติเวลาโกรธใคร
ใจเราจะพุ่งไปที่คนนั้น คิดหาทางเล่นงานหรือจ้องตอบโต้เขา
ไม่ด้วยคำพูดก็การกระทำ แต่ทันทีที่เราหันมามองใจของตน
จนเห็นความโกรธที่เผาลนจิตใจ ความโกรธจะวูบลงทันที
เหมือนกองไฟที่ถูกชักฟืนออกมา

ความโกรธลุกลามได้ก็เพราะเราหมกมุ่นครุ่นคิดถึงคนหรือเหตุการณ์ที่เราไม่ชอบ
การหมกมุ่นครุ่นคิดเช่นนั้นไม่ต่างจากการเติมฟืนให้กับกองไฟ
ยิ่งเติมก็ยิ่งร้อน แต่ทำไมถึงยังเติมไม่หยุด
นั่นก็เพราะเราเผลอปล่อยใจไปตามความโกรธ
แต่เมื่อใดที่เรากลับมารู้ทันความโกรธ หรือเห็นความโกรธกลางใจ
ความโกรธก็อ่อนแรงเพราะขาดเชื้อ ไม่นานก็ดับไป

จะรู้ทันความโกรธได้ต้องมีสติที่รวดเร็ว ถ้าสติเชื่องช้า
กว่าจะรู้ตัวว่าโกรธก็ด่าหรือทำร้ายเขาไปเรียบร้อยแล้ว
แล้วก็มานั่งเสียใจที่ทำสิ่งนั้นลงไป

การรู้ทันความโกรธนั้น ใช้ได้ทั้งกับตัวเองและคนอื่น
เวลาพ่อแม่เห็นลูกโกรธ ส่วนใหญ่มักบอกลูกว่า "อย่าโกรธ ๆ" หรือ
"
โกรธเขาทำไม" การสอนเช่นนั้นทำได้อย่างมากแค่กระตุ้นให้ลูกกดข่มความโกรธ
ซึ่งได้ผลชั่วคราว จะดีกว่าหากแนะให้ลูกหันมามองใจของตน
และรับรู้ถึงความโกรธที่เกิดขึ้น
วิธีนี้จะช่วยให้ลูกรู้ทันความโกรธได้เร็วขึ้น

"
โมน"เป็นเด็กอายุ ๓ ขวบ คราวหนึ่งโกรธป้ามาก แม่เห็น แทนที่จะห้ามลูกว่า
"
อย่าโกรธ" ก็ถามลูกว่า "ลูกโกรธใช่ไหม" ลูกตอบว่าใช่ แม่จึงถามต่อว่า
"
โกรธแค่ไหน เท่านี้หรือโกรธเท่าฟ้า" ลูกบอกว่าโกรธเท่าฟ้า ฟังดูน่าตกใจ
แต่ไม่นานโมนก็หายโกรธ

แม่ไม่ได้ทำอะไรมากไปกว่าการช่วยให้โมนกลับมารู้ตัวและเห็นอารมณ์ของตนเอง
แต่การทำเช่นนี้มีความสำคัญมาก เพราะเมื่อโมนเห็นความโกรธของตน
ความโกรธในใจก็อ่อนกำลังและดับลงไปในที่สุด

ใช่แต่ความโกรธเท่านั้น
แม้แต่ความอยากก็ดับลงได้ด้วยการรู้ทันหรือเห็นมันอย่างต่อเนื่อง
เย็นวันหนึ่งลูกสาววัย ๑๒
มาออดอ้อนแม่ว่าอยากได้ของเล่นชิ้นหนึ่งที่วางขายในร้าน เป็นไมโครโฟนเล็ก
ๆ ที่เสียบปลั๊กแล้วสามารถร้องเพลงได้หมือนนักร้องจริง ๆ พอแม่ถามราคา
ก็ตกใจเพราะราคาสูงถึง ๔๐๐ บาท

ลูกรบเร้าว่าอยากได้มากจริง ๆ แม่จึงตกลงกับลูกว่า
แม่จะหักเงินค่าขนมของลูกครึ่งหนึ่งใส่กระปุกทุกวันจนกว่าจะครบ ๔๐๐ บาท
อีกอย่างที่แม่อยากให้ลูกทำคือ ทุกเย็นเป็นเวลา ๑
อาทิตย์ให้ลูกเข้าไปที่ร้านนั้นและมองดูไมโครโฟน
"
แล้วให้สังเกตด้วยว่าทุกวันที่มองดู ใจหนูรู้สึกอย่างไร
ชอบมันมากเหมือนเดิมทุกวันไหม"

ผ่านไป ๔ วันเท่านั้น ลูกก็มาบอกแม่ว่าไม่อยากได้แล้ว เมื่อแม่ถามว่าทำไม
ลูกตอบว่า "เบื่อ" ลูกพูดต่อว่า "ดูนาน ๆ ก็เบื่อเอง เพราะไม่เห็นมีอะไร
เก็บเงิน ๔๐๐ ไว้ดีกว่า"

เวลาเกิดความอยากได้นั่นได้นี่ เรามักทำตามความอยากทันที
คือขวนขวายไปหามันมา จึงไม่มีโอกาสที่จะเห็นหรือรู้ทันความอยาก
แต่หากเราลองไม่ทำตามมันดูบ้าง เช่น ไม่ซื้อหรือผัดผ่อนไปก่อน
มันจะแสดงตัวให้เราเห็นอย่างชัดเจน ด้วยการ
"
โวยวาย"หรือดิ้นรนผลักดันให้เราคล้อยตามมันให้ได้
ตรงนี้เองหากเราลองตั้งสติและดูมันไปเรื่อย ๆ
ไม่ช้าไม่นานมันก็จะสงบลงไปเอง

อารมณ์ที่บั่นทอนจิตใจ ไม่ว่าความโกรธหรือความอยาก
เปรียบเสมือนโจรที่กลัวคนเห็น ทันทีที่ถูกเห็น มันก็จะทนเฉยไม่ได้
ต้องล่าถอยไป เช่นเดียวกับความมืดที่แพ้แสงสว่าง

ถ้าไม่อยากให้โจรร้ายครองใจ ก็ขอให้หมั่นดูใจของเราอยู่เสมอ


 


 
 

Monday, March 1, 2010

ธรรมะของหลวงปู่ทวด

พูดมาก เสียมาก     พูดน้อย เสียน้อย     ไม่พูด ไม่เสีย     นิ่งเสีย โพธิสัตว์
image001.jpg


หลวงปู่ทวด วัดช้างให้ จ.ปัตตานี
ท่านเป็นพระมหาเถระที่รู้จักกันทั่วประเทศ ในนาม " หลวงปู่ทวด เหยียบน้ำทะเลจืด "
คาถาบูชาท่าน คือ นะโม โพธิสัตโต อาคันติมายะ อิติภะคะวา
ชาติกาล 3 มีนาคม พ.ศ. 2125
ชาติภูมิ บ้านเลียบ ต.ดีหลวง อ.สทิงพระ จ.สงขลา
บรรพชา เมื่ออายุได้ 15 ปี
อุปสมบท เมื่ออายุ 20 ปี
มรณภาพ 6 มีนาคม พ.ศ.2225
สิริรวมอายุได้ 99 ปี
คติธรรมคำสอน ของ หลวงปู่ทวด
ธรรมประจำใจ
พูดมาก เสียมาก   พูดน้อย เสียน้อย   ไม่พูด ไม่เสีย   นิ่งเสีย โพธิสัตว์
ละได้ย่อมสงบ
ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ ล้วนแต่เคลื่อนที่ไปสู่ความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ทุกอย่างในโลกนี้ เคลื่อนไปสู่การสลายตัวทั้งสิ้น ไม่ยึด ไม่ทุกข์ ไม่สุข ละได้ย่อมสงบ
สันดาน
ภูเขาถูกมนุษย์ทำลายลงมาได
แต่สันดานของคนเราที่นอนนิ่งอยู่ในก้นบึ้ง
ซึ่งไม่เหมือนกันย่อมขัดเกลาให้ดีเหมือนกันได้ยาก

ชีวิตทุกข์
การเกิดมาเป็นมนุษย์ชาติหนึ่ง จะว่าประเสริฐก็ประเสริฐ จะว่าไม่ประเสริฐก็ไม่ประเสริฐ
จะเห็นได้ว่า ตื่นเช้าก็มีความทุกข์เข้าครอบงำ

จะต้องล้างหน้า ล้างปาก ล้างฟัน ล้างมือ
เสร็จแล้วจะต้องกินต้องถ่าย นี่คือความทุกข์แห่งกายเนื้อ

เมื่อเราจะออกจากบ้าน
ก็จะประสบความทุกข์ในหมู่คณะ ในการงาน ในสัมมาอาชีวะ การเลี้ยงตนชอบ
นี่คือ ความทุกข์ในการแสวงหาปัจจัย
บรรเทาทุกข์
การที่เราจะไม่ต้องทุกข์มากนั้น
เราจะต้องรู้ว่า เรานี้จะต้องไม่เอาชีวิตไปฝากสังคม เราต้องเป็นตัวของเราเอง
และเราจะต้องวินิจฉัยในเหตุการณ์ที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับตัวเราว่า สิ่งใดเราควรทำ สิ่งใดไม่ควรทำ
ยากกว่าการเกิด
ในการที่เราเกิดมา  ชีวิตแห่งการเกิดนั้นง่าย  แต่ชีวิตแห่งการอยู่นั้นสิยาก
เราจะทำอย่างไรให้อยู่ได้อย่างสุขสบาย
ไม่สิ้นสุด
แม่น้ำทะเล และมหาสมุทร ไม่มีที่สิ้นสุดของน้ำ ฉันใด
กิเลสตัณหาของมนุษย์ก็ย่อมไม่มีที่สิ้นสุด ฉันนั้น

ยึดจึงเดือดร้อน

ทุกวันนี้ เกิดความทุกข์ ความเดือดร้อน ก็เพราะมนุษย์ไปยึดโนน่ ยึดนี่
ยึดพวกยึดพ้อง ยึดหมู่ยึดคณะ ยึดประเทศเป็นสรณะ
โดยไม่คำนึงถึงธรรมสากล
จักรวาลโลกมนุษยนี้ ทุกคนมีกรรมจึงเกิดมาเป็นสัตว์โลก
สัตว์โลกทุนคนต้องใช้กรรมตามวาระ ตามกรรม
ถ้าทุกคนยึดถือเป็นอารมณ์ ก็จะเกิดการเข่นฆ่ากัน
 เกิดการฆ่าฟันกัน
เพราะอารมณ์แห่งการยึดถืออายตนะ
 ฉะนั้น ต้องพิจารณาให้ถ่องแท้ว่า
สิ่งใดทำแล้ว สัตว์โลกมีความสุข สิ่งนั้นควรทำ นี่คือ หลักความจริงของธรรมะ
อยู่ให้สบาย
ในภาวะแห่งการที่จะอยู่อย่างสบายนั้น
เราต้องอยู่กันอย่างไม่ยึด
  อยู่กันอย่างไม่ยินดี  อยู่กันอย่างไม่ยินร้าย
อยู่กันอย่างพยายามให้จิตวิญญาณของนามธรรมนั้นเหนืออารมณ์
เหนือคำสรรเสริญ
 เหนือนินทา  เหนือความผิดหวัง  เหนือความสำเร็จ  เหนือรัก  เหนือชัง
ธรรมารมณ์
การอยู่อย่างมีธรรมารมณ์ คือ การอยู่เหนือความรู้สึกทั้งปวง
อยู่อย่างรู้หน้าที่การเป็นคน และรู้หน้าที่ในการงาน คือ รู้ว่าสิ่งที่เราทำนั้น เป็นสิ่งที่เราต้องทำ
ไม่ใช่ทำเพื่อหวังผลตอบแทน
  เพราะถ้าเราทำงานเพื่อหวังผลตอบแทนต่างๆ แล้ว

ถ้าสิ่งต่างๆไม่สัมฤทธิ์ผลตามความหวังนั้น เราย่อมเกิดความโทมนัส  เสียใจน้อยใจ  เป็นทุกข์
กรรม
ถ้าเรามีชีวิตอยู่อย่างที่ว่า
เกิดเพราะกรรม อยู่เพื่อกรรม ทำเพราะกรรม ตายเพราะกรรมแล้ว
ชีวิตการเป็นมนุษย์ย่อมมีความภิรมย์
 มีความรื่นเริง
มารยาทของผู้เป็นใหญ่
ผู้ใหญ่ไม่ใช่อยู่ที่เกิดก่อน  ผู้ดีไม่ใช่อยู่ที่เรียนสูง
มารยาทจรรยาของการเป็นผู้ใหญ่ ก็คือต้องสุขุมรอบคอบ และไม่ยึดติดเสียงเป็นหลัก
คือ ต้องไม่หวั่นไหวกับคำนินทาและสรรเสริญ
โลกิยะ
หรือ โลกุตระ
คนที่เดินทางโลกุตระ  ย่อมไปดีทางโลกิยะไม่ได้
คนที่เดินทางโลกิยะ
  ย่อมสำเร็จทางโลกุตระได้ยาก  เพราะอะไร ?
ถ้าคนหนึ่งสำเร็จได้ทั้งโลกิยะ และโลกุตระง่ายแล้ว
ทำไม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธโคดม ต้องสละราชบัลลังก์แห่งจักรพรรดิไปเป็นธรรมราชาเล่า
?
ถ้าเป็นไปได้
 พระองค์เป็นมหาจักรพรรดิพร้อมทั้งธรรมราชา ไม่ดีหรือ?
แต่มันเป็นไปไม่ได้ เพราะโลกของโลกิยะและโลกุตระเดินคู่ขนานกัน

เราต้องตัดสินใจ  ต้องมีความเด็ดเดี่ยวและกล้าหาญในการที่จะเลือกทางใดทางหนึ่ง
ศิษย์แท้
พิจารณากายในกาย  พิจารณาธรรมในธรรม  พิจารณาวิญญาณ ในวิญญาณ
นั่นแหละ คือ สานุศิษย์อันแท้จริงของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
รู้ซึ้ง

ทุกอย่างจะต้องมีเหตุ  เมื่อมีเหตุจึงจะมีผล  ผลนั้นเกิดจากเหตุ
เราได้วินิจฉัยข้อนี้แล้ว
 เราจึงรู้ซึ้งถึงพุทธศาสนา
ใจสำคัญ
การทำบุญนั้น จะต้องทำด้วยจิตใจบริสุทธิ์
จะต้องทำด้วยความศรัทธา
ผลสะท้อนมันจะเกิดขึ้นเกินความคาดหมาย
หยุดพิจารณา
คนเรานี้  ถ้าไม่มีอะไรทำอยู่ในที่วิเวกคนเดียว  จิตมันจะฟุ้งซ่าน
และถ้าภาวะนั้น
  ตนไม่ปล่อยให้จิตฟุ้งซ่านไปเรื่อยๆ คือ หยุดพิจารณา
แล้วค้นสัจจะของ
 ศีล  สมาธิ  ปัญญา   ย่อมที่จะค้นหาสัจจะในธรรมะได้
บริจาค
ทำบุญสังฆทานเป็นจาคะ  จาคะเป็นการบริจาคโภคทรัพย์ภายนอก
การสวดมนต์เป็นการภาวนา
 การภาวนาเป็นการบริจาคภายใน
เพราะฉะนั้น ถ้านับในด้านทิพย์อำนาจ
การบริจาคภายในย่อมได้กุศล มากว่า การบริจาคภายนอก

นี่คือเรื่องของนามธรรม
ทำด้วยใจสงบ
เราจะทำบุญก็ดี  เราจะทำอะไรก็ดี  จงทำด้วยความสงบ
อย่าทำด้วยอารมณ์แห่งความร้อน เพราะการทำด้วยอารมณ์ร้อนนั้น  มันจะพาเราไปสู่หายนะ
เมื่อเกิดอารมณ์ร้อน  เราจะทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง  จงอย่าทำ
นั่งให้จิตใจมันสบายเสียก่อน  เมื่อจิตใจสบายแล้ว ปัญญาก็เกิด
เมื่อเกิดปัญญาแล้ว  จะทำสิ่งใดก็เป็นไปโดยความสะดวก
มีสติพร้อม
จะทำสิ่งใดก็ตาม  เราต้องมีสติพร้อม
คือ อย่าให้มีโทสะ  อย่าให้อารมณ์เข้ามาควบคุมสติ
อย่าให้เรื่องส่วนตัวและขาดเหตุผล
มาอยู่เหนือความจริง
เตือนมนุษย์
มนุษย์ผู้ใด เห็นแก่งานส่วนตัว   มนุษย์ผู้นั้น จะไม่มีง านทำในไม่ช้า
มนุษย์ผู้ใด เห็นแก่ทรัพย์ส่วนตัว   มนุษย์ผู้นั้น จะไม่มีทรัพย์ครองในไม่ช้า
มนุษย์ผู้ใด เห็นแก่นอนมาก   มนุษย์ผู้นั้น จะไม่ได้นอนในไม่ช้า
พิจารณาตัวเอง
คืนหนึ่งก็ดี  วันหนึ่งก็ดี  ควรให้มีเวลาว่างสัก 5 นาที หรือ 10 นาที ไม่ติดต่อกับใคร
ให้นั่งเฉยๆ คิดถึงเหตุการณ์ที่เราทำไปแต่ละวันๆ
ว่า  ที่เราทำไปนั้นเป็นอย่างไร
คือให้ปลีกตัวมีเวลาเป็นของตัวเองบ้าง
  คิดเอาแต่เรื่องของตัว อย่าไปคิดเรื่องของคนอื่น
เพราะมนุษย์เราส่วนมากทุกวันนี้
 มักเอาแต่เรื่องของคนอื่นมาคิด  ไม่ค่อยคิดเรื่องของตัวเอง
คัดลอกจากหนังสือ เรียนธรรมะบูชาพระสุปฏิปันโน เล่มของหลวงปู่ทวด
ขอให้ทุกท่านเจริญในธรรม
ธรรมะของหลวงปู่ทวด  อ่านแล้วส่งต่อ เพื่อเป็นธรรมทาน

 

Tuesday, February 23, 2010

ลูกถีบหลวงพ่อชา: อย่าฝากหัวใจไว้กับคนอื่น

ลูกถีบหลวงพ่อชา : อย่าฝากหัวใจไว้กับคนอื่น (ญาณธมฺโม)                                                                                            

 ลูกถีบหลวงพ่อชา :                                                                                                                         

 อย่าฝากหัวใจไว้กับคนอื่น                                                                                                                      

 พระอาจารย์ญาณธมฺโม                                                                                                                       

 วัดป่ารัตนวัน อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา                                                                                                        

                                                                                                                                        

                                                                                                                                        

 อาตมาอาจจะเป็นพระองค์เดียวในวงลูกศิษย์หลวงพ่อชา "ที่โดนท่านถีบ" แต่ว่าซาบซึ้งที่ท่านถีบอาตมา และเพราะความซาบซึ้งนั้น จะมาเล่าให้ญาติโยมฟัง                        

 คือตอนนั้นอาตมาบวชใหม่ๆ พรรษาแรกอยู่ที่วัดหนองป่าพง ปีนั้นพระเณร ๗๐ กว่ารูป พระเยอะ ญาติโยมเข้าวัดกันมาก วันนั้นได้ไปบิณฑบาต ตอนกลับจากบิณฑบาตมีพระองค์หนึ่งมาคุยด้วย  

 และพระองค์นั้นก็เพิ่งบวชใหม่เหมือนกัน ทั้งสององค์ต่างยังมีนิสัยแบบฆารวาส และพระองค์นั้นก็ได้ไปตำหนิติเตียนพระที่อยู่ในวัดที่ไม่ถูกใจ                                     

 อาตมาฟังแล้วคิดในใจว่า บวชเป็นพระทำไมมาจับผิดกัน ทำไมท่านตำหนิพระองค์นั้นองค์นี้ ก็เลยเดินหนีไม่อยากคุยด้วย แต่ไม่ได้เดินหนีอย่างเดียว เดินหนีตำหนิท่านในใจยังคิดเรื่องท่าน  

 พอดีเดินเข้ามาในวัด เดินก้มหน้าคิดถึงเรื่องพระองค์นี้องค์นั้นอยู่ ได้ยินเสียงหลวงพ่อชา พูดขึ้นมาว่า "กูดมอนิ่ง"                                                       

 ก็มองขึ้นไป เห็นหลวงพ่อชาก็อยู่ใกล้ๆ ท่านยิ้มใส่เรา พูดภาษาอังกฤษ "กูดมอนิ่ง" แปลว่าสวัสดีตอนเช้า                                                            

 เราก็ดีใจ ไม่เคยได้ยินหลวงพ่อพูดเป็นภาษาอังกฤษ ก็เลยยกมือไหว้ท่านและตอบท่านว่า "กูดมอนิ่ง หลวงพ่อ"                                                        

 หลวงพ่อชาท่านพูดภาษาอังกฤษได้ ๒ คำ "กูดมอนิ่ง" สวัสดีตอนเช้า กับ "ดู ยู ว้อน อะคัพ ออฟ ที" แปลว่า คุณต้องการน้ำชาไหม เพราะหลวงพ่อท่านเคยไปประเทศอังกฤษ         

 ชาวอังกฤษเขากินน้ำชากันทั้งวันทั้งคืนและเขาจะถามตลอดเวลา "ดู ยู ว้อน อะคัพ ออฟ ที"                                                                    

 หลวงพ่อเลยท่องไว้จำไว้ เพราะท่านว่ามันจำง่ายดี เพราะว่าเหมือนพระสวดให้พร ยถาวริวะหา อุปปะกัปปาติ แต่ท่านไม่ได้ถามอาตมา "ดู ยู ว้อน อะคัพ ออฟ ที"                

 เรายกมือไหว้ท่านรู้สึกดีใจอารมณ์เปลี่ยน ฉันเสร็จก็กลับกุฏิ เดินจงกรมนั่งสมาธิถึงหกโมงเย็นก็คิดว่าเดี๋ยวจะไปกุฏิหลวงพ่อชา                                              

 ถ้าใครเคยไปวัดหนองป่าพง จะเห็นกุฏิเก่าของท่านข้างๆ โบสถ์ ซึ่งหลวงพ่อมักจะนั่งบนเก้าอี้หวาย อาตมาเข้าไปก็กราบท่าน ขอนวดเท้า เพราะเราเคยฝึกนวดเท้า บางครั้งท่านจะให้  

 เราไปนวด                                                                                                                                

 วันนั้นพระเณรเยอะ ประมาณทุ่มหนึ่งเขาตีระฆัง ท่านก็ไล่พระเณรขึ้นโบสถ์หมด พระเณรประมาณ ๗๐ รูป                                                            

 ท่านบอกว่า ท่านญาณอยู่นี่ ก็นั่งสองต่อสองกับท่านก็จับเท้าท่านไว้ ท่านก็ไม่ได้พูดท่านนั่งหลับตาภาวนา เราก็นวดเท้าท่าน อากาศเย็นสบายช่วงฤดูหนาว                           

 พระเจ็ดสิบรูปเริ่มสวดมนต์ทำวัตรเย็น เราฟังพระสวดมนต์เจ็ดสิบรูป เหมือนเทวดา เหมือนเทพกำลังจะโปรดเรา เราก็นั่งคิด เรากำลังนั่งกับพระอรหันต์ กำลังสร้างบุญกุศล ถวายการ  

 นวดแก่พระอรหันต์อยู่ เทวดากำลังสวดอนุโมทนาด้วย จิตใจขึ้นสวรรค์เลย พอดีจิตใจขึ้นสวรรค์                                                                   

 หลวงพ่อใช้เท้าถีบหน้าอกอาตมาจนหงายหลัง หัวกระแทกพื้น เราก็ช็อกอยู่ งงเลย..!!!                                                                       

 หลวงพ่อชี้หน้า นั่นตอนเช้าพระองค์หนึ่งพูดไม่ถูกใจเรา เราก็เสียใจ อีกองค์หนึ่งพูดแค่ "กูดมอนิ่ง" ดีใจทั้งวัน อย่าไปดีใจ เสียใจกับคำพูดคนอื่น อย่าไปฝากหัวใจไว้กับคนอื่น ต้องฝากหัว 

 ใจไว้กับพระธรรม                                                                                                                          

 ทีนี้ท่านก็เทศน์กัณฑ์ใหญ่ เราก็ยกมือไหว้ท่าน น้ำตาไหล เพราะอะไร ซาบซึ้งในเมตตากรุณาของท่าน ท่านก็คงเห็นเราตอนเช้า ว่าพระองค์นี้ตกนรก จิตเป็นทุกข์ เพราะคำพูดคนอื่น      

 ท่านก็เลยพูดแค่ "กูดมอนิ่ง" ให้ดึงเราขึ้นจากนรก และตอนเย็นท่านก็ปล่อยให้เรานวดเท้าท่านให้ขึ้นสวรรค์ ขึ้นสวรรค์แล้ว ต้องถีบลงมาถึงแผ่นดิน เพราะเทวดาสอนธรรมไม่ได้ต้องมนุษย์ 

 เพื่อให้จดจำไว้                                                                                                                            

                                                                                                                                         

 "อย่าฝากหัวใจไว้กับคำพูดของผู้อื่น เพราะเราจะผิดหวัง                                                                                              

 ต้องฝากหัวใจไว้กับพระธรรม                                                                                                                   

 ก็เลยได้จดจำคำพูดหลวงพ่อ..."

Thursday, January 28, 2010

Tuesday, January 26, 2010

ศาสนาพุทธ เป็นศาสนาของการ 'ปฏิบัติ' ไม่ใช่ท่องจำ

1.       พระพุทธองค์ไม่เคยสอนว่าทำบุญมากๆ เพื่อไปสวรรค์  พระธรรมคำสั่งสอนของท่าน ก็คือ ทำบุญบริจาคตามสมควรเพื่อลดละกิเลส จุดประสงค์ของการปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนา ไม่ใช่การไปสวรรค์  เพราะการไปจุติในเทวโลกหรือพรหมโลกก็ตาม ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ดี ไม่ได้หลุดพ้น

พระพุทธองค์ต้องการสั่งสอนให้มนุษย์รู้จักนำพาตนเองให้หลุดไปจากวงจรนี้  เพราะการเวียนว่ายตายเกิดนี้มันเป็นทุกข์ 

 

ศาสนาพุทธ เป็นศาสนาของการ 'ปฏิบัติ' ไม่ใช่ท่องจำ หรือ สัมฤทธิผลกันโดยใช้ปริมาณความรู้ที่มีอยู่ และด้วยเหตุที่เป็นศาสนาของการปฏิบัติ  และรู้ผลได้โดยตนเองเฉพาะตน จึงเป็นอุปสรรคประการหนึ่งในการเผยแพร่

 

ต้นสายเป็นอย่างไรไม่ทราบแน่ชัด  แต่ในปัจจุบันที่เห็นและเป็นอยู่   มีการดึงเรื่อง นรก - สวรรค์, อิทธิฤทธิ์, ปาฏิหาริย์ ฯลฯ  เข้ามาผูกพันกับพระพุทธศาสนา เพื่อเป็นแกนให้เกิดศรัทธาอย่างมาก จนเกินพอดี

 

2.       ที่ว่าศาสนาพุทธเป็นวิทยาศาสตร์นั้น ถูกต้องแล้วครับ ประเด็นไม่ใช่ว่า สิ่งใดพิสูจน์ได้หรือไม่ได้   แต่วัดกันตรงความเป็นตรรกะ  หรือกระบวนการคิดลำดับเหตุและผล ยกตัวอย่างเช่น ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค (อริยสัจ 4) เราเป็นทุกข์ หาเหตุแห่งทุกข์ ดับเหตุแห่งทุกข์ได้ ก็ดับทุกข์ได้

 

ผมอยากฝากให้คิดด้วยครับ คำว่า 'พิสูจน์' ได้หรือไม่ได้ ได้รับอิทธิพลค่อนข้างสูงจากโลกตะวันตก คือมุ่งเน้นสิ่งที่ประจักษ์ต่อ 'สายตา' อย่างจะแจ้ง แต่ไม่ได้มีการนำเอา สัมผัส หรือเห็นด้วย 'จิต' มาเกี่ยวข้องหรือพิสูจน์

 

3.       ปัญหาอย่างหนึ่งของสังคมชาวพุทธในไทยก็คือ ยังขาดการมองภาพรวม และความเข้าใจในจุดประสงค์ของการนับถือศาสนาพุทธ เช่น กิจกรรมทางศาสนา ก็มักจะปฏิบัติตามๆกันไป โดยไม่ฉุกคิดที่มาที่ไป สาเหตุที่ต้องทำ ทำไปเพื่ออะไร  และผลที่ได้จากการกระทำ ยกตัวอย่าง 'การทำบุญตักบาตร' ยังเข้าใจในคนหมู่มาก ว่าทำไปเพื่อให้ได้บุญได้กุศล บุญกุศลจะช่วยให้พ้นทุกข์พ้นร้อนในชาตินี้ภพนี้  หรือ เมื่อตายไปก็ได้ขึ้นสวรรค์

 

ทั้งๆที่คำสอนของพระพุทธองค์ก็คือ 'ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน' คำสั่งสอนของท่านไม่มีหรอกครับที่ว่า  จงสร้างบุญสร้างกุศลมากๆ  แล้วให้รอแต่จะพึ่งบุญ พึ่งกุศล

 

และที่ชอบนำมาล้อกันว่า "ทำกรรมดีได้ดีมีที่ไหน  ทำกรรมชั่วได้ดีมีถมไป…"  นั้นก็ผิดเพี้ยนเป็นอย่างยิ่ง  เพราะคาบเวลา (Time Frame) ในทางพุทธนั้นกว้างใหญ่ไพศาลยิ่งนัก คือ ลบอินฟินิตี้ (-) จนถึงบวกอินฟินิตี้ (+) สิ่งที่คนประกอบกรรมชั่ว แต่กลับได้ดี  เช่น  นักการเมืองที่โกงกิน แต่กลับได้ดีมีวาสนาเป็นถึงรัฐมนตรี  หรือ คนที่ชอบประจบประแจงสอพลอนาย และให้ร้ายป้ายสีเพื่อนร่วมงาน แต่ได้เลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งมีตำแหน่งใหญ่โต  ที่เห็นกันอยู่นั้น เป็นเพราะผลแห่งกรรมดีที่เขาเคยทำเอาไว้ อาจเป็นในชาตินี้ภพนี้ หรือภพก่อนๆก็เป็นได้ ซึ่งเราก็ไม่อาจทราบว่าเป็นเมื่อไหร่  ที่บังเอิญมาสนองในเวลาปัจจุบัน  ไม่ใช่ว่าเขาทำชั่วประพฤติชั่วแต่กลับได้ดี  และแน่นอนว่ากรรมชั่วที่ได้ทำเอาไว้  ก็ต้องสนองตอบอย่างแน่นอนในอนาคต

 

แล้วที่ผมกล่าวในตอนต้น การขึ้นสวรรค์ ไม่ใช่จุดประสงค์ของการนับถือศาสนาพุทธ การทำบุญตักบาตรนั้น  โดยเนื้อแท้ก็คือการลดละกิเลส โดยนำของของตน (ปัจจัย) ไปถวายให้แด่ภิกษุสงฆ์ ซึ่งท่านได้บวช เพื่อเร่งรัดหนทางในการทำนิพพานให้แจ้ง ท่านไม่ได้ประกอบอาชีพใดๆ ให้เกิดการพัวพันวุ่นวายทางโลก  อันจะเป็นเครื่องฉุดรั้งหนทางสู่นิพพาน  การที่เรานำวัตถุปัจจัย อาหารไปให้ท่าน  ก็เพื่อเป็นกำลังบำรุงให้ท่านทำนิพพานให้แจ้ง

ซึ่งความจริง เราๆท่านๆที่เป็นฆราวาสก็ไปถึงได้  เพียงแต่จะไปได้ช้ากว่าท่านมาก  เพราะยังต้องประกอบอาชีพ และพัวพันกับกิจกรรมทางโลกมากมาย ตั้งแต่ลืมตาตื่นขึ้นมาจนจรดเข้านอน

 

มีเทป และหนังสือธรรมะดีๆ หลายเล่มที่ใช้ภาษาเรียบง่าย  ไม่เยิ่นเย้อ  ที่รอให้ศึกษา และปฏิบัติธรรมครับ  เช่น ท่านพุทธทาส หลวงพ่อปัญญา ฯลฯ ถ้าถามว่าจะรู้ได้อย่างไรว่า ดีหรือไม่ดี ผมอยากตอบว่า แนวทางของสำนักใด เกจิอาจารย์ท่านใดก็ตาม ถ้าปฏิบัติแล้วใจคอสงบเย็นขึ้นๆ ก็ดีทั้งนั้นละครับ

แต่ถ้าปฏิบัติแล้ว มีแต่ความร้อนรุ่ม  มัวเมาในบุญ  กระหายในนิพพานด้วยอัตตาแห่งตน ก็มาผิดทางแล้วครับ