Thursday, January 28, 2010

Tuesday, January 26, 2010

ศาสนาพุทธ เป็นศาสนาของการ 'ปฏิบัติ' ไม่ใช่ท่องจำ

1.       พระพุทธองค์ไม่เคยสอนว่าทำบุญมากๆ เพื่อไปสวรรค์  พระธรรมคำสั่งสอนของท่าน ก็คือ ทำบุญบริจาคตามสมควรเพื่อลดละกิเลส จุดประสงค์ของการปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนา ไม่ใช่การไปสวรรค์  เพราะการไปจุติในเทวโลกหรือพรหมโลกก็ตาม ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ดี ไม่ได้หลุดพ้น

พระพุทธองค์ต้องการสั่งสอนให้มนุษย์รู้จักนำพาตนเองให้หลุดไปจากวงจรนี้  เพราะการเวียนว่ายตายเกิดนี้มันเป็นทุกข์ 

 

ศาสนาพุทธ เป็นศาสนาของการ 'ปฏิบัติ' ไม่ใช่ท่องจำ หรือ สัมฤทธิผลกันโดยใช้ปริมาณความรู้ที่มีอยู่ และด้วยเหตุที่เป็นศาสนาของการปฏิบัติ  และรู้ผลได้โดยตนเองเฉพาะตน จึงเป็นอุปสรรคประการหนึ่งในการเผยแพร่

 

ต้นสายเป็นอย่างไรไม่ทราบแน่ชัด  แต่ในปัจจุบันที่เห็นและเป็นอยู่   มีการดึงเรื่อง นรก - สวรรค์, อิทธิฤทธิ์, ปาฏิหาริย์ ฯลฯ  เข้ามาผูกพันกับพระพุทธศาสนา เพื่อเป็นแกนให้เกิดศรัทธาอย่างมาก จนเกินพอดี

 

2.       ที่ว่าศาสนาพุทธเป็นวิทยาศาสตร์นั้น ถูกต้องแล้วครับ ประเด็นไม่ใช่ว่า สิ่งใดพิสูจน์ได้หรือไม่ได้   แต่วัดกันตรงความเป็นตรรกะ  หรือกระบวนการคิดลำดับเหตุและผล ยกตัวอย่างเช่น ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค (อริยสัจ 4) เราเป็นทุกข์ หาเหตุแห่งทุกข์ ดับเหตุแห่งทุกข์ได้ ก็ดับทุกข์ได้

 

ผมอยากฝากให้คิดด้วยครับ คำว่า 'พิสูจน์' ได้หรือไม่ได้ ได้รับอิทธิพลค่อนข้างสูงจากโลกตะวันตก คือมุ่งเน้นสิ่งที่ประจักษ์ต่อ 'สายตา' อย่างจะแจ้ง แต่ไม่ได้มีการนำเอา สัมผัส หรือเห็นด้วย 'จิต' มาเกี่ยวข้องหรือพิสูจน์

 

3.       ปัญหาอย่างหนึ่งของสังคมชาวพุทธในไทยก็คือ ยังขาดการมองภาพรวม และความเข้าใจในจุดประสงค์ของการนับถือศาสนาพุทธ เช่น กิจกรรมทางศาสนา ก็มักจะปฏิบัติตามๆกันไป โดยไม่ฉุกคิดที่มาที่ไป สาเหตุที่ต้องทำ ทำไปเพื่ออะไร  และผลที่ได้จากการกระทำ ยกตัวอย่าง 'การทำบุญตักบาตร' ยังเข้าใจในคนหมู่มาก ว่าทำไปเพื่อให้ได้บุญได้กุศล บุญกุศลจะช่วยให้พ้นทุกข์พ้นร้อนในชาตินี้ภพนี้  หรือ เมื่อตายไปก็ได้ขึ้นสวรรค์

 

ทั้งๆที่คำสอนของพระพุทธองค์ก็คือ 'ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน' คำสั่งสอนของท่านไม่มีหรอกครับที่ว่า  จงสร้างบุญสร้างกุศลมากๆ  แล้วให้รอแต่จะพึ่งบุญ พึ่งกุศล

 

และที่ชอบนำมาล้อกันว่า "ทำกรรมดีได้ดีมีที่ไหน  ทำกรรมชั่วได้ดีมีถมไป…"  นั้นก็ผิดเพี้ยนเป็นอย่างยิ่ง  เพราะคาบเวลา (Time Frame) ในทางพุทธนั้นกว้างใหญ่ไพศาลยิ่งนัก คือ ลบอินฟินิตี้ (-) จนถึงบวกอินฟินิตี้ (+) สิ่งที่คนประกอบกรรมชั่ว แต่กลับได้ดี  เช่น  นักการเมืองที่โกงกิน แต่กลับได้ดีมีวาสนาเป็นถึงรัฐมนตรี  หรือ คนที่ชอบประจบประแจงสอพลอนาย และให้ร้ายป้ายสีเพื่อนร่วมงาน แต่ได้เลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งมีตำแหน่งใหญ่โต  ที่เห็นกันอยู่นั้น เป็นเพราะผลแห่งกรรมดีที่เขาเคยทำเอาไว้ อาจเป็นในชาตินี้ภพนี้ หรือภพก่อนๆก็เป็นได้ ซึ่งเราก็ไม่อาจทราบว่าเป็นเมื่อไหร่  ที่บังเอิญมาสนองในเวลาปัจจุบัน  ไม่ใช่ว่าเขาทำชั่วประพฤติชั่วแต่กลับได้ดี  และแน่นอนว่ากรรมชั่วที่ได้ทำเอาไว้  ก็ต้องสนองตอบอย่างแน่นอนในอนาคต

 

แล้วที่ผมกล่าวในตอนต้น การขึ้นสวรรค์ ไม่ใช่จุดประสงค์ของการนับถือศาสนาพุทธ การทำบุญตักบาตรนั้น  โดยเนื้อแท้ก็คือการลดละกิเลส โดยนำของของตน (ปัจจัย) ไปถวายให้แด่ภิกษุสงฆ์ ซึ่งท่านได้บวช เพื่อเร่งรัดหนทางในการทำนิพพานให้แจ้ง ท่านไม่ได้ประกอบอาชีพใดๆ ให้เกิดการพัวพันวุ่นวายทางโลก  อันจะเป็นเครื่องฉุดรั้งหนทางสู่นิพพาน  การที่เรานำวัตถุปัจจัย อาหารไปให้ท่าน  ก็เพื่อเป็นกำลังบำรุงให้ท่านทำนิพพานให้แจ้ง

ซึ่งความจริง เราๆท่านๆที่เป็นฆราวาสก็ไปถึงได้  เพียงแต่จะไปได้ช้ากว่าท่านมาก  เพราะยังต้องประกอบอาชีพ และพัวพันกับกิจกรรมทางโลกมากมาย ตั้งแต่ลืมตาตื่นขึ้นมาจนจรดเข้านอน

 

มีเทป และหนังสือธรรมะดีๆ หลายเล่มที่ใช้ภาษาเรียบง่าย  ไม่เยิ่นเย้อ  ที่รอให้ศึกษา และปฏิบัติธรรมครับ  เช่น ท่านพุทธทาส หลวงพ่อปัญญา ฯลฯ ถ้าถามว่าจะรู้ได้อย่างไรว่า ดีหรือไม่ดี ผมอยากตอบว่า แนวทางของสำนักใด เกจิอาจารย์ท่านใดก็ตาม ถ้าปฏิบัติแล้วใจคอสงบเย็นขึ้นๆ ก็ดีทั้งนั้นละครับ

แต่ถ้าปฏิบัติแล้ว มีแต่ความร้อนรุ่ม  มัวเมาในบุญ  กระหายในนิพพานด้วยอัตตาแห่งตน ก็มาผิดทางแล้วครับ