Tuesday, June 3, 2008

สามสหายธรรมแห่งสวนโมกข์ (ตอน 3)

ธรรมะจากวัด

ดร.พระมหาจรรยา สุทธิญาโณ วัดพุทธปัญญา แคลิฟอร์เนีย

สามสหายธรรมแห่งสวนโมกข์ (ตอน 3)

หาก จะให้สันนิษฐานว่า หลวงพ่อพระราชญาณกวีได้เรียนบาลีก่อนหรือหลังเดินทางไปธรรมจาริกกับพระ โลกนาถ ก็ขอสันนิษฐานว่า ท่านเรียนบาลีก่อน เพราะเมื่อหลวงพ่อปัญญานันทะกลับจากธรรมจาริกและไปเรียนบาลีที่วัดสามพระยา หลวงพ่อพระราชญาณกวีเป็นเจ้าอาวาสวัดดอนทรายแก้ว ที่จังหวัดชุมพรแล้ว

ดัง ที่หลวงพ่อปัญญานันทะเล่าว่า สมัยที่ท่านเรียนภาษาบาลีอยู่ที่วัดสามพระยานั้น การบิณฑบาตยากเย็นแสนเข็ญ เดินบิณฑบาตไปไกลแค่ไหนก็ยังไม่ได้อาหารเลย บางวันได้เพียงข้าวสุกสามช้อน ไข่เค็มฟองเดียว หรือปลาทูตัวเดียว เวลาฉันก็ต้องแบ่งฉัน เช่น ถ้าได้ปลาทูมาตัวหนึ่ง ต้องฉันเช้าครึ่งตัว ฉันเพลครึ่งตัว

เมื่อ โรงเรียนบาลีปิดก่อนจะเข้าพรรษาก็คิดถึงพี่ท่านบุญชวน จึงไปเยี่ยมเยือนด้วยความคิดถึง ท่านเล่าต่อไปว่า เมื่อท่านเดินทางไปถึงวัดดอนทรายแก้วที่หลวงพ่อบุญชวนเป็นเจ้าอาวาสอยู่นั้น หลวงพ่อบุญชวนกำลังง่วนอยู่กับการมุงหลังคากุฏิ เห็นท่านนั่งอยู่บนหลังคากุฏิ หลวงพ่อปัญญานันทะทักทายท่านว่า ทำไมต้องขึ้นไปมุงหลังคาเองครับพี่ท่าน

หลวงพ่อบุญชวนก็ตอบว่า เดี๋ยวนี้ผมไม่ได้เป็นฝ่ายค้านแล้ว ก็ต้องทำทุกอย่างละครับ พูดจบก็หัวเราะกันลั่นตามประสาคนคิดถึงและรู้ใจกัน

ข้อความตรงนี้หมายความว่าอย่างไร

หลวง พ่อปัญญานันทะขยายความให้ฟังว่า ในวัดเปรียบเจ้าอาวาสเป็นรัฐบาล ลูกวัดก็เป็นฝ่ายค้าน เป็นลูกวัดไม่ต้องรับผิดชอบอะไรมาก มีอะไรก็นั่งวิจารณ์เจ้าอาวาสได้ แต่เมื่อต้องมาเป็นเจ้าอาวาส เป็นผู้ปกครองหรือผู้บริหาร เมื่อพบว่ามีปัญหาอะไรเกิดขึ้นในวัดหรือในองค์กรของตนเอง จะนั่งบ่นหรือวิจารณ์ต่อไปไม่ได้ จะต้องลงมือทำให้ลุล่วงไปด้วยดี

ตอนนี้หลวงพ่อบุญชวนท่านมาเป็นรัฐบาลบ้างแล้ว เมื่อเห็นหลังคารั่วก็ต้องซ่อมหลังคาเอง สมัยเป็นลูกวัดหรือฝ่ายค้านอาจจะไม่ต้องทำก็ได้

ท่าน ทั้งสองเป็นผู้ใฝ่เรียนใฝ่รู้ เป็นนักคิดในทุกวัยโดยไม่ใช้เวลาให้เปล่าประโยชน์ จึงมีผลึกแห่งความรู้ความคิดดีๆ มากมาย แม้เวลาพูดหยอกล้อกันเล็กๆ น้อยๆ ก็ได้สาระและข้อคิด ที่นำมาพิจารณาเห็นเป็นความจริงและนำมาใช้ในการดำเนินชีวิตได้

หลวงพ่อปัญญานันทะเคยเล่าว่า เมื่อพบกันก็นั่งสนทนาจนดึกดื่น หลวงพ่อบุญชวนถามว่า ทำไมน้องท่านผอมนักละ เรียนหนักหรือย่างไร

หลวงพ่อปัญญานันทะตอบว่า เรียนนะไม่หนักเท่าไร แต่อดนะซิหนักหน่อย

หลวงพ่อบุญชวนบอกว่า ไม่เป็นไรจะจัดการอุปกรณ์การเรียนให้

ตั้งแต่ นั้นมาเวลาประชาชนมาทำบุญที่วัดหรือมีงานบุญตามบ้าน หลวงพ่อบุญชวนจะนำหลวงพ่อปัญญานันทะไปแสดงธรรมด้วยเสมอ ปัจจัยที่ญาติถวายก็จะได้เป็นทุนการศึกษาต่อ และวันใกล้จะเดินทางกลับหลวงพ่อบุญชวนก็บอกญาติโยมให้เตรียมมะพร้าวและข้าว สารจำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะเตรียมมะพร้าวให้ตั้งสามร้อยผล เสร็จแล้วก็ส่งทางเรือไปลงกรุงเทพฯ ท่านเองกลับทางรถไฟ เมื่อมาถึงกรุงเทพฯ ไม่นาน มะพร้าวและข้าวสารก็มาถึง จึงจ้างรถเจ๊กลากมะพร้าวและข้าวสารมาเก็บไว้ และหุงข้าวมันใส่มะพร้าวฉันทุกวัน จนตัวแทบเป็นมันเลย

หลวงพ่อปัญญา นันทะให้เหตุผลว่า ที่ฉันข้าวมันเพราะข้าวมันหุงง่าย แม้ไม่มีแกงหรือกับข้าวอื่นๆ มีเพียงพริก น้ำปลา หรือพริกกับเกลือ ก็คลุกฉันได้เลย ฉันแล้วก็ตั้งใจเรียนหนังสือต่อไป

ที่เล่าเหตุการณ์ตอนนี้มายืดยาวเพื่อจะสนับสนุนข้อสันนิษฐานที่ว่า หลวงพ่อพระราชญาณกวี น่าจะเรียนบาลีก่อนเดินทางไปธรรมจาริก

มา เล่าเรื่องธรรมจาริกกันต่อ เพราะจะได้เห็นความสัมพันธ์ของสามสหายธรรมอย่างเป็นอิทัปปัจจัยตามีเหตุ มีผล มีที่ไปที่มาอย่างชัดขึ้นตามลำดับ

ข่าวการเดินทางเท้าเปล่าไป ประเทศอินเดียเข้าหู พระปั่น ปทุมุตฺตโร ชื่อและฉายาเดิมของหลวงพ่อปัญญานันทะ ซึ่งกำลังเรียนบาลีอยู่ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ท่านได้ทราบข่าวก็นึกอยากจะไปร่วมขบวนธรรมจาริกของท่านพระโลกนาถครั้งนี้ เป็นนักหนา แต่พอไปเล่าความให้โยมแม่ฟัง ถูกโยมแม่ทัดทานอย่างแข็งขัน แต่ท่านพยายามอย่างเต็มที่ที่จะไปให้ได้ ก่อนวันเดินทางท่านเปิดปราศรัยที่สถานีรถไฟ พูดถึงความรักในพระรัตนตรัยและความตั้งใจแน่วแน่ที่จะเดินทางไปนมัสการ สังเวชนียสถาน เพื่อตามรอยบาทของพระบรมศาสดาให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยไม่ต้องกลัวความเหน็ดเหนื่อยและภยันตรายใดๆ ทั้งสิ้น

หลวงพ่อ ปัญญานันทะเล่าว่า เมื่อท่านปาฐกถาเสร็จ โยมแม่เข้ามาบอกว่า ให้ท่านเดินทางไปได้ ขอให้เดินทางด้วยความปลอดภัย ความยินยอมอนุญาตและคำอวยพรของโยมแม่ ทำให้ท่านเดินทางด้วยความสบายใจและหมดห่วง

พอถึงวันเดินทางพระสงฆ์ จากทั่วประเทศมาพร้อมกันที่วัดบวรนิเวศวิหาร พักอยู่ที่นั่นหลายวันเพื่อรอหนังสือเดินทาง หลวงพ่อปัญญานันทะก็ได้พบหลวงพ่อพระราชญาณกวีที่นี่อีกครั้งก็ดีใจ เพราะเคยพบกันที่จังหวัดระนองมาก่อน ขณะที่หลวงพ่อพระราชญาณกวีเป็นพระภิกษุ และหลวงพ่อปัญญานันทะเป็นสามเณรและเป็นครูอยู่ที่นั่น

การเดินทาง ครั้งนี้ได้รับความอุปถัมภ์ด้วยดีจากรัฐบาลและได้ทราบว่ารัชกาลที่ 7 ก็ทรงถวายความอุปถัมภ์ด้วย เมื่อหนังสือเดินทางเสร็จแล้วคณะสงฆ์ธรรมจาริกก็ออกเดินทางไปเรื่อยๆ ค่ำไหนก็นอนนั่น เวลาเย็นก็ประชุมกันฟังธรรมและแสดงธรรมแก่พุทธศาสนิกชนที่มาเยี่ยมขบวนของ พระสงฆ์ ข้อปฏิบัติที่ปฏิบัติกันเป็นประจำก็คือ ถือธุดงค์นอนกลางแจ้ง ไม่สวมรองเท้า และฉันอาหารผัก ใครมีศรัทธาก็ให้การบรรพชาเรื่อยไป เมื่อถึงวัดใหญ่มีสีมาก็อุปสมบทเสียครั้งหนึ่ง ก็มีคนบวชกันตลอดทาง

หลวง พ่อบุญชวนเคยเป็นครูมาก่อน เก่งภาษาอังกฤษ จึงช่วยเป็นล่ามให้พระโลกนาถได้ พร้อมทั้งแสดงธรรมแก่ประชาชนที่มาฟังธรรมกันตลอดทาง เป็นการฝึกความแข็งแกร่งทั้งกาย ใจ และปัญญาไปตลอดทาง

เดินทางรอนแรม ไปเรื่อยๆ หลายเดือนก็เข้าประเทศพม่า จึงแวะกราบพระเจดีย์ชะเวดากองและพักอยู่ที่วัดในประเทศพม่าหลายวัน หลวงพ่อปัญญาได้รับข่าวจากเมืองไทยว่าโยมพ่อป่วยหนัก ก็เดินทางกลับประเทศไทยก่อนมาเยี่ยมโยมพ่อและโยมพ่อก็เสียในเวลาต่อมา

หลวง พ่อพระราชญาณกวี ได้เดินทางต่อไปกับคณะของพระโลกนาถจนถึงอินเดีย ท่านเล่าว่า วันแรกๆ ที่ท่านไปถึงนั้น ท่านออกบิณฑบาตปรากฏว่า สิ่งที่ชาวอินเดียนำมาใส่บาตรน่าตกใจ เขานำเอาข้าวสาร นม เนย และขี้วัวแห้ง มาใส่บาตร ท่านงงๆ สงสัยว่า เขาจะแกล้งเราหรือเปล่า เมื่อพยายามสอบถามคนที่พูดภาษาอังกฤษได้ก็ทราบว่า ผู้ตักบาตรต้องการให้นำเอาข้าวสาร นม หรือ เนย ผักต่างๆ มาปรุงเอง ส่วนขี้วัวแห้งนั้นเป็นเชื้อเพลิงสำหรับปรุงอาหาร พูดง่ายๆ คล้ายๆ กับการที่ญาติโยมนำข้าวสารและอาหารแห้งมาใส่บาตรนั่นเอง

หลวงพ่อพระ ราชญาณกวีกับคณะของพระโลกนาถได้เดินทางนมัสการสังเวชนียสถาน คือสถานที่พระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน และแสดงปฐมเทศนาครบถ้วนแล้วพิจารณาว่า หมู่คณะธรรมจาริกมีความขัดแย้งกันหลายเรื่อง เนื่องจากพระที่บวชก็ใหม่ ยังไม่ได้รับการฝึกฝนในพระธรรมวินัยให้มีความรู้ความซาบซึ้งพอ มีเรื่องกระทบกระทั่งแล้วไม่ค่อยจะมีความอดทน พระที่มาจากต่างถิ่นต่างที่ล้วนมีภูมิหลังและวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ถ้าเดินทางกันไปไกลกว่านี้ ก็คงจะไม่ราบรื่นนัก จึงตัดสินใจเดินทางกลับ

เมื่อ หลวงพ่อพระราชญาณกวีเดินทางถึงอินเดียใหม่ๆ ได้มีจดหมายส่งมายังหลวงพ่อปัญญานันทะว่า ให้เดินทางไปอินเดียโดยให้มาขึ้นเรือที่ท่าเรือประเทศพม่า หลวงพ่อปัญญานันทะจัดงานศพโยมพ่อเสร็จแล้วก็เดินทางไปพม่าตามที่หลวงพ่อพระ ราชญาณกวีได้ชวนไว้ แต่หลวงพ่อพระราชญาณกวีได้เดินทางไปถึงพม่าและขึ้นจากท่าเรือไปก่อนแล้วสัก สองหรือสามวัน หลวงพ่อปัญญานันทะถามข่าวคนที่ท่าเรือว่า เจอพระสงฆ์ที่เดินทางมาจากอินเดียบ้างไหม เจ้าหน้าที่ท่าเรือก็ได้เล่าลักษณะของพระสงฆ์ที่เดินทางกลับจากอินเดียให้ ฟัง ก็แน่ใจว่าท่านกลับแล้ว จึงคิดว่าไม่รู้จะไปจาริกกับใคร เพราะพี่ท่านที่สนิทสนมและรู้ใจกลับไปเสียแล้ว

เมื่อท่านทั้งสองกลับ มาถึงกรุงเทพฯ สถานการณ์เปลี่ยน คณะสงฆ์กรุงเทพฯ ประกาศว่า ไม่อนุญาตให้วัดในกรุงเทพฯ รับพระสงฆ์ที่เคยเดินทางไปกับพระโลกนาถเข้าจำพรรษา หลวงพ่อบุญชวนจึงต้องเดินทางกลับวัดดอนทรายแก้ว จังหวัดชุมพร หลวงพ่อปัญญานันทะเข้ามาที่วัดปทุมคงคาก็ทราบว่าหลวงพ่อพระราชญาณกวีเดิน ทางกลับชุมพรแล้ว จึงเดินทางตามมาที่วัดดอนทรายแก้ว

หลวงพ่อปัญญานัน ทะเล่าว่า เมื่อเดินทางมาถึงวัดดอนทรายแก้วท่านรีบออกมาต้อนรับด้วยรอยยิ้มที่เต็มหน้า หลวงพ่อปัญญานันทะก็เย้าท่านอีกว่า หลอกเพื่อนไปถึงพม่าแล้วตัวเองกลับมายืนยิ้มอยู่นี่แหละนะ

แรง ปรารถนาแสวงหาความรู้และประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับชีวิตของพระหนุ่มทั้งสองไม่เคยหยุดนิ่ง ได้ทราบว่า หลวงพ่อพุทธทาสกำลังสร้างสวนโมกข์ใหม่ๆ มีจุดประสงค์และอุดมการณ์อันสูงส่งเพื่อการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาทั้งในด้าน ปริยัติและปฏิบัติให้ถูกต้อง แล้วคิดว่าเมื่อไม่มีวัดไหนในกรุงเทพฯ รับเข้าจำพรรษาแล้ว ไปหาท่านพุทธทาสกันดีกว่า

No comments: