Wednesday, June 11, 2008

บทที่ 6 อภิชน ผู้ครองโลก พลังความคิดสร้างสรรค์ในยุคข้อมูลข่าวสาร (5) - คอลัมน์ อภิชน ผู้ครองโลก

บทที่ 6 อภิชน ผู้ครองโลก พลังความคิดสร้างสรรค์ในยุคข้อมูลข่าวสาร (5) - คอลัมน์ อภิชน ผู้ครองโลก

คอลัมน์ อภิชน ผู้ครองโลก

โดย รอฮีม ปรามาท rowhim@yahoo.com

" ศาสนาของข้าพเจ้า เรียบง่าย ไม่จำเป็นต้องมีอาราม ไม่จำเป็นต้องมีหลักปรัชญาสลับซับซ้อน สมองของเรา จิตใจของเรา นั่นคืออาราม หลักปรัชญามีเพียงความเมตตาปรานี" - องค์ทะไล ลามะ องค์ที่ 14 ผู้นำสูงสุดทางจิตวิญญาณและการปกครอง ของทิเบต

"คนโง่ก่อตั้งลัทธิ ส่วนคนฉลาดครอบงำ บงการลัทธิ"

- โวลแตร์ นักปรัชญา นักประพันธ์ กวี ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของฝรั่งเศส ในยุคแห่งการรู้แจ้ง

ยุคแห่งการฟื้นฟูศรัทธา

หลัง จากยุโรปอยู่ภายใต้การครอบงำของสถาบันที่ตั้งอยู่บนความเชื่อถือศรัทธามานาน หลายร้อยปี หลักคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์ประเทืองปัญญาก็ได้เข้าแทนที่ ก่อให้เกิดพัฒนาการด้านต่างๆ มากมาย ทั้งด้านการเมืองการปกครอง วัฒนธรรม ศิลปวิทยาการ วิถีการดำเนินชีวิต มาถึงยุคปัจจุบัน พลังอำนาจของฝ่ายศาสนาประสานกับพลังอำนาจของสื่อยุคใหม่ กำลังทำให้ศาสนาพลิกฟื้นกลับมามีบทบาทสำคัญอีกครั้งในเวทีระดับโลก ส่งผลให้ผู้นำทางศาสนากลายเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในกลุ่มอภิชนของโลกด้วยเช่น กัน

ในศตวรรษที่ 20 ภูมิปัญญากระแสหลัก และบทวิพากษ์วิจารณ์สังคมมากมาย ระบุว่า ความทันสมัย (modernization) ได้สร้างสังคมที่มุ่งเน้นไปในทางโลกียะที่เป็นรูปธรรมเพิ่มมากขึ้น ช่วงต้นทศวรรษ 1900 แม็กซ์ เวเบอร์ นักสังคมวิทยาผู้ยิ่งใหญ่ เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า "การคลายมนต์สะกดโลกจากสิ่งที่มองไม่เห็น (the disenchantment of the world)" ระบอบทุนนิยมเข้าแทนที่ความเชื่อถือศรัทธาในพระเจ้า ทำให้ผู้คนหันไปศรัทธาเงินตรา ความก้าวหน้า และการแพร่หลายของวิทยาศาสตร์ การอ่านออกเขียนได้ ทำให้ผู้คนเลิกพึ่งพาพระเจ้าในการอธิบายสิ่งที่ไม่รู้จักไม่เข้าใจ ช่วงกลางศตวรรษ ประธานาธิบดีเคนเนดี้ได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐ หลังจากประกาศจุดยืนว่า "สหรัฐอเมริกาในยุคนี้ ศาสนจักรแยกออกจากรัฐโดยสิ้นเชิง ไม่มีเจ้าหน้าที่ของรัฐคนใดที่ขอคำแนะนำหรือปฏิบัติตามแนวทางด้านนโยบาย สาธารณะของ พระสันตะปาปา สภาศาสนจักร หรือผู้สูงส่งทางศาสนาคนใด"

อย่าง ไรก็ตาม โลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงสู่สังคมเมือง การแพร่หลายของการศึกษาและระบอบประชาธิปไตย ในยุคปัจจุบัน ไม่ได้ทำให้สังคมขับเคลื่อนไปทางโลกที่เป็นรูปธรรมเท่านั้น ผลลัพธ์อีกด้านหนึ่งเป็นการพลิกฟื้นความเชื่อถือศรัทธานามธรรมทางจิตวิญญาณ ให้กลับมามีบทบาทสำคัญอีกครั้งในหลายพื้นที่ของโลก

มีเพียงไม่กี่ ศาสนาที่มีผู้เชื่อถือศรัทธาระดับโลก โดยขณะนี้คริสต์จักรครอบครองพื้นที่และอิทธิพลสูงที่สุดในโลก โดยมีคริสต์ศาสนิกชนจำนวน 2.1 พันล้านคน ตามมาด้วยศาสนาอิสลาม โดยมีชนมุสลิม 1.3 พันล้านคน ชาวฮินดู จำนวน 900 ล้านคน ผู้นับถือลัทธิศาสนาของจีนจำนวน 394 ล้านคน และนับถือศาสนาพุทธ 376 ล้านคน นอกจากนี้ยังมีศาสนาอีกไม่ถึงสิบศาสนาที่มีผู้นับถือมากกว่า 10 ล้านคน ไม่ต้องสงสัยเลย ภายในแต่ละศาสนาหลักของโลก ก็ยังมีความขัดแย้งและแบ่งแยกกัน แต่ไม่รุนแรงเหมือนในประวัติศาสตร์ ที่ผ่านมา คาทอลิกกับโปรเตสแตนต์ ไม่ได้เข่นฆ่ากันเหมือนในอดีต แต่ความแตกต่างยังคงมีอยู่อย่างมหาศาล ทางด้านศาสนาอิสลาม ความขัดแย้งพื้นฐานอยู่ที่นิกายสุหนี่กับชีอะห์ ซึ่งเป็นความขัดแย้งที่ย้อนหลังไปถึงยุคศตวรรษที่ 13 ว่าใครควรจะเป็น ผู้สืบทอดการนำของศาสดามูฮัมหมัด มาถึงปัจจุบัน ความขัดแย้งยิ่งลึกซึ้งและรุนแรง ปัจจุบันมุสลิมร้อยละ 85 นับถือนิกายสุหนี่ ร้อยละ 15 นับถือนิกายชีอะห์

การกลับมามีบทบาท สำคัญอีกครั้ง ของศาสนาในแวดวงการเมืองการปกครอง และเวทีระดับโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งศาสนาคริสต์และอิสลาม ก่อนที่จะวิพากษ์วิจารณ์ใดๆ บรรดานักวิเคราะห์สังคมควรระมัดระวัง และคำนึงถึงความสัมพันธ์อันซับซ้อนระหว่างศาสนจักรกับโลกยุคใหม่ ในหลายแง่มุมการเติบโตของขบวนการ เชื่อถือศรัทธาต้องพึ่งพาความช่วยเหลือ จากกระแสโลกาภิวัตน์ ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มีส่วนช่วยอย่างมากต่อกลุ่มลัทธิศาสนา และเหล่าผู้นำในการเผยแพร่คำสั่งสอน ข้อความ กิจกรรมโน้มน้าวแสวงหาสมาชิก ผู้ศรัทธา และการสร้างเครือข่ายติดต่อสื่อสารภายในกลุ่ม โทรทัศน์ วิทยุ ภาพยนตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอินเทอร์เน็ต ได้กลายเป็นเครื่องที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ในการเผยแพร่ และชักชวนสมาชิกใหม่ จากอิสลามจนถึงมอร์มอน อันเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้สมาชิกของแต่ละศาสนาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้การติดต่อสองทางที่เพิ่มมากขึ้นอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในอดีต ที่ให้ภายในกลุ่มสมาชิกมีความใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้น รวมทั้งเกื้อหนุนให้เกิดความหลากหลายมากยิ่งขึ้น

ทางด้านเหล่าผู้นำ ทางศาสนาที่มีสถานะเป็นอภิชนในโลกยุคปัจจุบัน มีวิธีการสารพัดรูปแบบในการก้าวขึ้นสู่อำนาจ บ้างก็ใช้วิธีการตามแบบประเพณีนิยม โดยยึดมั่นในแนวทางอนุรักษนิยมแบบสุดโต่ง เพื่อแสดงสถานะของตนให้โดดเด่นเหนือกว่าคู่แข่ง และวางแผนการเลื่อนชั้นสถานะภายในโครงสร้างอำนาจอย่างเป็นขั้นเป็นตอน โดยได้รับการสนับสนุนจากผู้ทรงอิทธิพลเบื้องบน และผู้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดระดับเดียวกันและเบื้องล่าง อีกด้านหนึ่งเป็นผู้นำทางศาสนาในยุคข้อมูลข่าวสาร ซึ่งใช้ เครื่องมือและกลยุทธ์ที่ล้อผู้ประกอบการธุรกิจในยุคสมัยเดียวกัน ผู้นำกลุ่มนี้มีพฤติกรรมคล้ายคลึงกับเหล่าผู้นำทางการเมืองและธุรกิจ พวกท่านมีเครือข่าย ที่ปรึกษาที่ช่ำชองกลยุทธ์ สามารถสร้างฐานสนับสนุนในวงกว้าง ปรับตัวเข้ากับ สถานการณ์ทางการเมืองได้อย่างรวดเร็วท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงสามารถซุกซ่อน เป้าหมายและความทะเยอทะยาน ได้อย่างมิดชิด แต่ก็เล็งผลเลิศในทุก ขั้นตอนปฏิบัติ ตัวอย่างปรากฏให้เห็นมากมายทั้งในอดีตและปัจจุบัน

ทุก วันนี้ผู้นำทางศาสนาหลายท่านยังใช้สถานะความเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ และฐานกลุ่มผู้เชื่อถือศรัทธา เพื่อสถาปนาพลังอำนาจทางโลกียะ ทางการเมือง เอาชนะ คู่กรณีขัดแย้ง ใช้ความรุนแรงโดยอ้างคัมภีร์ หรือแอบแฝงหลักการทางศาสนา ซึ่งปรากฏให้เห็นอย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่ของโลก โดยไม่คำนึงว่าผู้คนฝั่งตรงข้าม หรือผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง จะได้รับผลกระทบและความทุกข์ยากสักเพียงใด

เหล่าผู้นำทางศาสนา และลัทธิความเชื่อ ก็จัดเป็นอภิชนในโลกยุคใหม่ และมีบทบาทมากกว่าผู้นำทางศาสนาในยุคก่อนหน้า สามารถใช้อำนาจอิทธิพลผ่านทางผู้เชื่อถือศรัทธาใกล้ชิดทั้งที่อยู่ในแวดวง การเมืองและธุรกิจ หรืออาจวางแผนใช้อิทธิพลประสานข้ามฟาก จากภาคการเมือง ภาคธุรกิจ และภาคมวลชนที่ศรัทธา

แต่ก็ยังมีผู้นำทางศาสนาจำนวนมาก ที่อุทิศตัวให้กับสังคมโลกส่วนรวม โดยไม่ประสงค์พลังอำนาจหรือสถานะโดดเด่นใดๆ ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ และความก้าวหน้าในยุคโลกาภิวัตน์ มุ่งแก้ไขปัญหาพื้นฐานและตอบสนองต่อความต้องการจำเป็น ของสังคม

ปัจจุบัน มีผู้นำทางศาสนาโลกหลายท่านได้เข้าร่วมประชุมเศรษฐกิจโลกที่เมือง ดาวอส ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการประชุมผู้นำทางเศรษฐกิจโลกไม่ได้คำนึงถึงแง่มุม ทางเศรษฐกิจและการเมืองของโลกเท่านั้น แต่ยังมีหลักคิดว่า ถ้าหากต้องการ เปลี่ยนแปลงสังคมโลกอย่างแท้จริง เหล่าผู้นำทางศาสนาของโลกเป็นกลุ่มอภิชนที่ไม่อาจมองข้าม

ยุคแห่ง การรู้แจ้งของโลก หลายคน บอกว่าพระเจ้าตายแล้ว มาในยุคศตวรรษ ที่ 21 เราได้เห็นการพลิกฟื้นของกระแสความศรัทธากลับคืนมาอีกครั้ง แต่การ หวนคืนกลับมาครั้งนี้เป็นผลมาจากความโกลาหล ความไม่มั่นใจในอนาคต หรือการผุกร่อนของอัตลักษณ์ความเป็นชาติ ยังเป็นเรื่องซึ่งต้องถกอภิปรายกัน ต่อไป แต่ข้อหนึ่งที่พอจะบอกได้ในขณะนี้ ก็คือ ในไม่ช้าอภิชนทางศาสนาจะต้องสร้างสิ่งใหม่ ที่มีอิทธิพลกว้างขวาง และสะท้อนถึงจุดอ่อน ข้อบกพร่อง ของผู้นำทางศาสนาในอดีต

No comments: