Monday, September 29, 2008

"ความกล้าหาญทางจริยธรรม" พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ว.วชิรเมธี)

"ความกล้าหาญทางจริยธรรม" พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ว.วชิรเมธี)

พระ มหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ว.วชิรเมธี) สถาบันวิมุตติยาลัย ปาฐกถาในหัวข้อเรื่อง "สังคมไทยกับการสร้างสรรค์ความกล้าหาญทางจริยธรรม" ใจความสำคัญ มีดังนี้

..ถ้าถามว่า ทำไมในหัวข้อที่ว่าความ กล้าหาญทางจริยธรรม จึงเป็นหัวข้อที่เชื่อว่าสำคัญที่สุดในเวลานี้ ก็คงจะต้องตอบว่าเพราะสังคมไทย ณ วันนี้กำลังมีปัญหาเรื่องจริยธรรมเป็นอย่างมาก หลายปีที่ผ่านมา หรือจะเรียกว่าช่วงทศวรรษนี้ หรือตั้งแต่ ปี พ.ศ.2540 เป็นต้นมาก็ว่าได้ สังคมไทย มีคำอยู่คำหนึ่ง ซึ่งโด่งดังเป็นที่ปรารถนาและพึงประสงค์อย่างมาก นั่นก็คือคำว่า "ธรรมาภิบาล" หรือการบริหารจัดการที่ดีนั่นเอง ธรรมาภิบาลนี้นับว่าเป็นคำใหม่ บริบทเดิมของธรรมาภิบาลก็คือ การบริหารจัดการที่เรียนในเชิงธุรกิจ

แต่เรายังมีคำที่เก่ากว่านั้น และน่าจะดีกว่าคำว่า "ธรรมาภิบาล" นั่นก็คือ คำว่า "การบริหารราชการแผ่นดิน โดยธรรม" ที่น่าสังเกตก็คือ ทำไมในช่วงทศวรรษนี้เราต้องการธรรมาภิบาลหรือเรียกร้องต้องกันกับการบริหาร ราชการ แผ่นดินอย่างยิ่ง ก็เพราะว่าเรากำลังขาดเนื้อในของการบริหารราชการแผ่นดิน สิ่งนี้ก็คือ "ธรรมะ"

ธรรมะในภาคปฏิบัติก็คือ จริยธรรม คำถามต่อมาก็คือแล้วธรรมะ หรือจริยธรรม ทำไมจึงไม่ถูกนำมาประพฤติปฏิบัติให้กลายเป็นวัฒนธรรมกระแสหลักของคนไทยทั้ง ประเทศ นั่นเป็นเพราะว่าเรายังขาดความกล้าหาญทางจริยธรรมนั่นเอง

แต่หากจะถามว่า ความกล้าหาญทางจริยธรรมคืออะไร คำตอบก็คือ

หนึ่ง ความรักในความเป็นธรรม ความถูกต้อง และความจริง

สอง ความกล้าที่จะจักยืนทำในสิ่งที่ถูกต้องและดีงาม รวมถึงเข้าใจโลกและชีวิตอีกด้วย

สิ่ง นี้คือความหมายที่แท้ของความกล้าหาญทางจริยธรรม และเราจะสามารถสร้างความกล้าหาญทางจริยธรรมที่ทำให้คนองอาจกล้าหาญในการที่ จะทำเพื่อประชาชนหรือทำเพื่อเพื่อนมนุษยชาติได้อย่างไรนั้น "พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี" ได้ยกตัวอย่าง ผู้ที่มีความกล้าหาญทางจริยธรรม เช่น "สุทธิชัย หยุ่น" มาให้ฟังว่า...

สุทธิชัย หยุ่น เป็นสื่อมวลชนที่เรียกร้องหาสิทธิและเสรีภาพของสื่อมาโดยตลอด ในช่วงที่เขาไปทำงานเป็นเพียงแค่ผู้ช่วยบรรณาธิการให้หนังสือพิมพ์แห่งหนึ่ง ก็มีข่าวว่าลูกชายนายกรัฐมนตรีท่านหนึ่งไปพังศาลาริมทาง แล้วยังไปปัสสาวะรดอีกด้วย ซึ่งเหตุดังกล่าวนักข่าวรู้กันหมดแต่ไม่มีฉบับไหนกล้าลงแม้แต่ฉบับเดียว คุณสุทธิชัยนั้นก็เชื่อมั่นว่าสื่อจะต้องมีเสรีภาพ ถ้าสื่อไม่มีเสรีภาพจะเป็นสื่อไปทำไม จึงไปขอภาพ นักข่าวมาลง โดยแอบลงไม่ให้บรรณาธิการทราบ

เหตุการณ์กลับตาลปัตร เมื่อวันรุ่งขึ้นพบว่า นายกรัฐมนตรีท่านนั้นเรียกลูกชายไปตักเตือน ที่ดีกว่านั้นคือ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เขียนชมข่าวชิ้นนี้ และนับตั้งแต่ วันนั้น คำว่า สุทธิชัย หยุ่น จึงกลายเป็นชื่อนักข่าวคุณภาพเป็นต้นมา

" นี่คือความกล้าหาญทางจริยธรรมที่แท้จริง แต่คนที่มีความกล้าหาญทางจริยธรรมอย่างนี้นั้น จะต้องมีความระมัดระวังเช่นกัน เพราะเมื่อเราลุกขึ้นมาเรียกร้องความกล้าหาญทางจริยธรรมแล้วได้รับความ สำเร็จ หยัดยืนลุกขึ้นมาแสดงความกล้าหาญทางจริยธรรมที่ถูก ที่ควร เราอาจจะเป็นโรคเสพย์ติดจริยธรรมได้ คือจะทำตัวเป็นทั้งมโนธรรม คือเป็นศาลเตี้ย อันนั้นไม่ดี อันนี้ไม่ได้ ที่ฉันว่าดีจึงดี ที่ฉันว่าใช่คือใช่ เริ่มไม่ฟังใคร จนบางครั้งเผลอตัวคิดว่าฉันเป็นสถาบันบุคคล"

ทำให้ในเวลาต่อมา จะเริ่มทำตัวเป็นไม้บรรทัดวัดไปเสียทุกคนและทุกเรื่อง คนไหนหรือเรื่องไหนที่ไม่ตรงกับไม้บรรทัดของตนเองนั้น ก็จะผลักเขาไปอีกข้างหนึ่งแล้วบอกว่าคนเหล่านั้นเป็นคนไม่ดี ไม่มีจริยธรรม เราจะกลายเป็นมโนธรรม ของสังคมในลักษณะแบบเผด็จการ

สิ่งเหล่านี้จะ เป็นภัยให้กับตนเอง เพราะคุณขาดความเข้าใจในโลกและชีวิต ถ้าคุณไม่เข้าใจในโลกและชีวิต ไม่รู้จัก อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา วันหนึ่งคุณจะกลายเป็นคนที่มีความกล้าหาญทางจริยธรรมที่แข็งกล้า และที่หนักกว่านั้น คุณอาจจะกลายเป็นผู้นำทางการเมืองที่ทำให้ บ้านเมืองไม่สงบสุขสักเท่าไหร่ เพราะคุณผูกขาดความมีจริยธรรมใหม่ และเชื่อมั่นว่าจริยธรรมของฉันเท่านั้นถูกที่สุด

"มนุษย์เรานั้นพอเชื่อมั่นว่าตัวเองถูกที่สุดแล้วทำร้ายใครก็ได้ในโลกนี้ เพราะ เขาจะถือว่าเขาผู้นั้นเป็นฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามกับจริยธรรม ก็คือฝ่ายอธรรมนั่นเอง และจะถือว่าฉันคือธรรมะ เพราะฉะนั้นพฤติกรรมที่ฉันทำทั้งหมดจึงถูกต้อง นี่คืออันตรายของคนที่มีความกล้าหาญทางจริยธรรมที่จะต้องเรียนรู้เอาไว้ให้ เท่าทัน มิเช่นนั้นคนที่มีความกล้าหาญทางจริยธรรมนั่นเอง จะเป็นผู้ที่ประพฤติร้ายต่อจริยธรรมของสังคมอย่างน่าเป็นห่วง"

ใน ทางกลับกัน หากผู้ที่มีความกล้าหาญทางจริยธรรมมีการศึกษาธรรมะควบคู่กันไป แทนที่เขาจะทำตัวเป็นมโนธรรม เป็นไม้บรรทัดของสังคม เขาจะปรับตัวใหม่ กลายเป็นมโนธรรมของสังคม เป็นเสียงแห่งสติของสังคม มีหน้าที่คอยติงและ คอยเตือน แต่ไม่ใช่ตำหนิ และเขาจะไม่ใช่ไม้บรรทัดของสังคมอีกต่อไป หากแต่จะยังเป็นเข็มทิศที่เที่ยงธรรมของสังคม วางตนเป็นแบบอย่างให้สังคมเห็นว่า ธรรมเป็นเช่นนี้ และอธรรมเป็นเช่นนี้

เหมือน ดังที่ กุหลาบ สายประดิษฐ์ นักหนังสือพิมพ์ผู้ยิ่งใหญ่ ได้เขียนเอาไว้ว่า ก่อนพายุก็ดี ขณะที่พายุกำลังโหมกระหน่ำก็ดี หลังพายุก็ดี เรายืนอยู่ตรงนี้มาตั้งแต่ต้น และเราไม่ได้ไปไหน เราอยู่ตรงนั้น มาโดยตลอด นั่นคือเขาจะทำตัวเป็นเข็มทิศทางจริยธรรม ไม่หนักไปในทางคุกคามคนอื่นให้สมาทานทางจริยธรรมของตนเองเบี่ยงเบนไป ด้วยวิธีนี้จริยธรรมของเขาจึงเป็นจริยธรรมที่ทุกฝ่ายรับได้ ไม่ใช่จริยธรรมที่มาพร้อมกับความกลัวอีกต่อไป

 

No comments: