Wednesday, June 24, 2009

รู้และเข้าใจเหตุแห่งความล้มเหลวผิดพลาด รู้และเข้าใจเหตุแห่งความสำเร็จ รู้และเข้าใจถึงอดีต ปัจจุบัน และอนาคตของการที่ทำนั้นอย่างถ่องแท้

อิทธิบาท 4 รากฐานแห่งการทำอิทธิฤทธิ์

รู้และเข้าใจเหตุแห่งความล้มเหลวผิดพลาดทั้งปวง รู้และเข้าใจเหตุแห่งความสำเร็จทั้งปวง รู้และเข้าใจถึงอดีต ปัจจุบัน และอนาคตของการที่ทำนั้นอย่างถ่องแท้ รู้เหตุ รู้ผล ของการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเพื่อความเจริญก้าวหน้ายิ่ง ๆ ขึ้นไปในการทั้งปวงที่ทำอยู่นั้น

 


โดย สิริอัญญา

อิทธิบาทแปลว่ารากฐานของอิทธิปาฏิหาริย์หรือรากฐานของอิทธิฤทธิ์ เป็นองค์ธรรมสำคัญเพื่อความสำเร็จทั้งปวง พระตถาคตเจ้าทรงสรรเสริญอิทธิบาทไว้เป็นอเนกอนันต์ประการ ในฐานะที่เป็นรากฐาน เป็นบาทฐานแห่งความสำเร็จทั้งปวง

คือเป็นราก ฐานหรือบาทฐานของความสำเร็จในการทั้งปวง ทั้งในระดับโลกิยะและโลกุตระ การฝึกฝนอบรมจิตตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงที่สุดแห่งทุกข์จักสำเร็จได้จริงแท้ก็ ต้องอาศัยอิทธิบาท และประกอบขึ้นจากอิทธิบาท การกระทำการงานทั้งปวงในระดับโลกียะไม่ว่าเรื่องเล็กน้อยใหญ่ประการใด หากประกอบด้วยอิทธิบาทแล้วการงานทั้งปวงนั้นก็จักสำเร็จดังประสงค์

อิทธิบาทประกอบด้วยองค์ 4 ประการ คือ
ฉันทะ วิริยะ จิตตะ และวิมังสา

ฉันทะ คือ ความพึงใจ ความพอใจ ความตั้งใจ ที่จะทำการใดให้สำเร็จจงได้ ไม่มีวอกแวก ผันแปรเปลี่ยนแปลง มีความแน่วแน่ตรงดิ่งถึงที่สุด เป็นองค์ธรรมที่ทำให้การประกอบการงานทั้งปวงทั้งฝ่ายกาย ฝ่ายจิต ทั้งระดับโลกิยะและโลกุตระดำเนินไปได้อย่างสะดวกสบาย และมีความโปร่งโล่งเบิกบานเป็นสุข

วิริยะ คือ ความเพียร ความมานะบากบั่น ไม่ย่อหย่อน ไม่ผัดผ่อน มุ่งมั่นบรรลุถึงความปรารถนาให้สำเร็จประการเดียวเท่านั้น ไม่ว่าจะทุกข์ยากลำบากลำเค็ญยากเข็ญและใช้เวลามากน้อยเท่าใด

จิตตะ คือ ความใส่ใจหรือการเอาใจใส่ในการนั้น ๆ อย่างเต็มที่เต็มเปี่ยม จิตใจและการที่กระทำทั้งปวงนั้นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ไม่แปลกแยกออกจากกัน การเป็นอย่างใดใจก็เป็นอย่างนั้น ใจเป็นอย่างใดการก็เป็นไปอย่างนั้น ความเป็นหนึ่งเดียวเช่นนี้การที่ทำกับใจก็ผนึกเป็นหนึ่งเดียวกัน รู้ถ่องแท้ทั่วถึงในการทั้งปวง ทั้งเหตุทั้งผลทั้งการเริ่มต้น การดำเนินไปจนถึงที่สุด รู้เบื้องต้น รู้ท่ามกลาง รู้ที่สุด จนสำเร็จในเบื้องต้น ในท่ามกลางและในที่สุด

วิมังสา คือ ความใคร่ครวญทบทวนเหตุผล เป็นองค์ธรรมเพื่อการยกระดับความรู้ความชำนาญให้สูงขึ้นเป็นลำดับ ๆ ไป จนรู้และเข้าใจเหตุแห่งความล้มเหลวผิดพลาดทั้งปวง รู้และเข้าใจเหตุแห่งความสำเร็จทั้งปวง รู้และเข้าใจถึงอดีต ปัจจุบัน และอนาคตของการที่ทำนั้นอย่างถ่องแท้ รู้เหตุ รู้ผล ของการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเพื่อความเจริญก้าวหน้ายิ่ง ๆ ขึ้นไปในการทั้งปวงที่ทำอยู่นั้น

อิทธิบาทจึงเรียกอีกนัยหนึ่งว่า อิทธิบาท 4 เมื่อบริสุทธิ์บริบูรณ์แล้วย่อมก่อเกิดเป็นองค์ธรรมที่เป็นเอกภาพ คือเป็นเหตุเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จในการทั้งปวง

แม้ กระทั่งเกี่ยวกับการขยายเวลาอายุขัยของคนก็ต้องอาศัยอิทธิบาท ดังที่พระตถาคตเจ้าได้ตรัสว่า "ดูกรอานนท์ ผู้หนึ่งผู้ใดเจริญอิทธิบาทสี่ ทำให้มาก ทำให้เป็นประหนึ่งยาน ทำให้เป็นประหนึ่งวัตถุที่ตั้งไว้เนือง ๆ อบรมไว้ ปรารภด้วยดีโดยชอบแล้ว ผู้นั้นเมื่อปรารถนาก็พึงดำรงชีวิตได้ตลอดกัลป์หรือเกินกว่ากัลป์"

เมื่อ ครั้งที่ท่านเจ้าคุณพุทธทาสป่วยหนักใกล้จะถึงกาลดับขันธ์นั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงอาราธนาท่านเจ้าคุณว่าอย่าเพิ่งดับขันธ์ ขอให้อยู่ช่วยจรรโลงพระศาสนาก่อน ครั้งนั้นท่านเจ้าคุณพุทธทาสได้รับอาราธนาโดยมีเงื่อนไขว่าจะอยู่เพียงเท่า ที่เหตุปัจจัยจะอำนวยให้อยู่ได้

ในคืนวันนั้นท่านเจ้าคุณก็ได้ เจริญอิทธิบาท 4 เป็นผลให้อาการป่วยหนักใกล้จะดับขันธ์นั้นสร่างหายอย่างรวดเร็ว และดำรงอายุสังขารต่อมาอีกหลายปี จนกระทั่งถึงวาระปลงอายุสังขารก่อนสิ้นปีที่รุ่งปีขึ้นก็ถึงกาลดับขันธ์ เป็นที่อัศจรรย์

หรือเมื่อครั้งที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก วัดบวรนิเวศวิหาร ทรงประชวรมีพระอาการมาก ในวันที่ 14 สิงหาคม 2547 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ได้เสด็จไปเยี่ยมและได้อาราธนาสมเด็จพระญาณ สังวร สมเด็จพระสังฆราช ว่าพระอาจารย์อย่าเพิ่งละสังขาร ขอให้อยู่ช่วยหม่อมฉันก่อน สมเด็จพระสังฆราชทรงพยักหน้ารับคำอาราธนา

หลัง จากนั้นก็ทรงเจริญอิทธิบาท 4 เป็นลำดับมา เป็นผลให้พระสุขภาพอนามัยของพระองค์ดีขึ้นแบบดีวันดีคืน จนสามารถปฏิบัติภารกิจได้ตามปกติอีกครั้งหนึ่ง เป็นที่อัศจรรย์

 

No comments: