Wednesday, June 24, 2009

ความสามัคคี ถ้าเกิดมีขึ้นในที่ใด ย่อมทำให้ที่นั้นมีแต่ความสงบสุข ความเจริญ ส่วนความแตกสามัคคี ถ้าเกิดมีขึ้นในที่ใด ย่อมทำให้ที่นั้นประสบแต่ความทุกข์ มีแต่ความเสื่อมเสียโดยประการเดียว

 ความสามัคคี หมายถึง ความพร้อมเพรียงกัน  ความกลมเกลียวเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน  ไม่ทะเลาะเบาะแว้ง  วิวาทบาดหมางกันและกัน
  ความสามัคคี  มีด้วยกัน 2 ประการ คือ 
  1. ความสามัคคีทางกาย ได้แก่ การร่วมแรงร่วมใจกันในการทำงาน  
  2. ความสามัคคีทางใจ ได้แก่ การร่วมประชุมปรึกษาหารือกันในเมื่อเกิดปัญหาขึ้น


  ความสามัคคี ดังที่ว่านี้จะเกิดมีขึ้นได้ ต้องอาศัยเหตุ กระทำซึ่งความเคารพระหว่างกัน  อยู่ร่วมกันในสังคมด้วยดี มีความสุข ความสงบ ไม่ทะเลาะเบาะแว้ง ทำร้ายทำลายกัน  มี 6 ประการ คือ        
  1. แสดงไมตรีและความหวังดีต่อเพื่อนร่วมงาน ร่วมกิจการร่วมชุมชน ด้วยการช่วยเหลือธุระต่างๆ โดยเต็มใจ แสดงอาการกิริยาสุภาพ  เคารพนับถือกัน ทั้งต่อหน้าและลับหลัง
  2. พูดต่อกันด้วยเมตตาคือช่วยบอกแจ้งสิ่งที่เป็นประโยชน์  สั่งสอนหรือแนะนำตักเตือนกันด้วยความหวังดี  แสดงความเคารพนับถือกัน ทั้งต่อหน้าและลับหลัง
  3. คิดต่อกันด้วยเมตตา  คือ ตั้งจิตปรารถนาดี  คิดทำแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่กัน  มองกันในแง่ดี  มีหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใสต่อกัน
  4. ได้มาแบ่งกันกินใช้ คือแบ่งปันลาภผลที่ได้มาโดยชอบธรรม แม้เป็นของเล็กน้อยก็แจกจ่ายให้ได้มีส่วนร่วมใช้สอยบริโภคทั่วกัน
  5. ประพฤติให้ดีเหมือนเขาคือมีความประพฤติสุจริต ดีงาม รักษาระเบียบวินัยของส่วนรวมไม่ทำตนให้เป็นที่น่ารังเกียจ หรือ เสื่อมแก่หมู่คณะ
  6. เคารพรับฟังความคิดเห็นกัน มีความเห็นชอบร่วมกัน  ตกลงกันได้ในหลักการสำคัญ  ยึดถืออุดมคติหลักแห่งความดีงาม หรือจุดหมายอันเดียวกัน

6 ประการนี้ เป็นคุณค่าก่อให้เกิดความระลึกถึงความเคารพนับถือกันและกัน เป็นไปเพื่อความสงเคราะห์ยึดเหนี่ยวน้ำใจกัน เพื่อป้องกันความทะเลาะ ความวิวาทแก่งแย่งกัน  เพื่อความพร้อมเพรียงร่วมมือ ผนึกกำลังกันเพื่อความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน
  อานิสงส์ของความสามัคคีนี้ ท่านกล่าวไว้ว่า เป็นบ่อเกิดแห่งความสุข ความเจริญ  เป็นเหตุแห่งความสำเร็จในกิจการงานต่างๆการงานอันเกินกำลังที่คนๆ เดียวจะทำได้ เช่น การก่อสร้างบ้านเรือน  ต้องอาศัยความสามัคคีเป็นที่ตั้งแมลงปลวกสามารถสร้างจอมปลวกที่ใหญ่โต กว่าตัวหลายเท่าให้สำเร็จได้ ก็อาศัยความสามัคคีกัน เพราะฉะนั้นการ รวมใจสามัคคีกันจึงเกิดมีพลัง ส่วนการแตกสามัคคีกันทำให้มีกำลังน้อย


  โทษของการแตกสามัคคีกันนั้น ท่านกล่าว ไว้ว่า  หาความสุข ความเจริญไม่ได้  ไม่มีความสำเร็จด้วยประการทั้งปวง  เหตุให้แตกความสามัคคีกันนี้  อาจเกิดจากเหตุเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็เป็นได้ เหมือนเรื่องน้ำผึ้งหยดเดียว  แต่เป็นเหตุให้เกิดสงครามได้เหมือนกัน   ยกตัวอย่างเรื่องพวกเจ้าลิจฉวีในเมืองไพศาลี แคว้นวัชชี  มีความสามัคคีกัน  พระเจ้าอชาตศัตรู ก็ทำอะไรไม่ได้ แต่พอเมื่อถูกวัสสการพราหมณ์ยุยงให้แตกสามัคคีกันเท่านั้น  ก็เป็นเหตุให้พระเจ้าอชาตศัตรู เข้าโจมตีและยึดเมืองเอาไว้ได้ในที่สุด
ดัง นั้น ความสามัคคี ถ้าเกิดมีขึ้นในที่ใด  ย่อมทำให้ที่นั้นมีแต่ความสงบสุข ความเจริญ  ส่วนความแตกสามัคคี ถ้าเกิดมีขึ้นในที่ใด  ย่อมทำให้ที่นั้นประสบแต่ความทุกข์ มีแต่ความเสื่อมเสียโดยประการเดียว

No comments: