Wednesday, December 10, 2008

ประเวศ วะสี :เปลี่ยนวิถีคิดฉับพลัน สงบเย็นฉับพลัน วิถีคิดแบบพุทธ "ตถาตคไม่เข้าใกล้ส่วนสุดทั้งสอง ตถาคตจะสอนทางสายกลาง"

ประเวศ วะสี :เปลี่ยนวิถีคิดฉับพลัน สงบเย็นฉับพลัน

(พุธ ที่ 3 ธันวาคม 251) คงเห็นทั่วกันแล้วว่า การคิดแบบเดิมๆ  ออกจากสภาวะวิกฤตไม่ได้คือ การคิดแบบใครแพ้ใครชนะ ใครผิดใครถูก หรือแม้แต่การตัดสินโดยศาล ซึ่งอาจจะตัดสินได้แต่คลายความขัดแย้งไม่ได้ รัฐบาลจะปราบพธม.ก็ไม่ได้ พธม. จะเอาชนะรัฐบาลก็ไม่ได้

กองทัพจะทำรัฐประหารก็ไม่ได้ ทำน่ะทำได้แต่สลายความขัดแย้งไม่ได้ เพราะ นปก. ก็ทำแบบ พธม. ได้ จะเปลี่ยนขั้วทางการเมืองก็แก้ความขัดแย้งไม่ได้ ฯลฯ

นั่นคือการคิดแบบเดิม ๆ ถ้าคิดแบบเดิมๆ แล้วไม่มีทางออกหรือกลับรุนแรงมากขึ้น คงจะต้องการวิถีคิดใหม่ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เคยกล่าวไว้ว่า "เราต้องการวิถีคิดใหม่โดยสิ้นเชิง ถ้ามนุษยชาติจะอยู่รอดได้" (We Shall need a radically new manner of thinking, if mankind is to survive)

ตัวอย่างวิถีคิดใหม่โดยสิ้นเชิง

๑. คิดเสียสละแทนที่จะคิดชนะ ถ้าทุกฝ่ายคิดเสียสละ เช่น สมชายเสียสละ พธม.เสียสละ ทักษิณเสียสละ ทุกฝ่ายคิดเสียสละแทนที่คิดเอาชนะจะเกิดความสงบเย็นทันที การเสียสละเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่ คนที่จิตใหญ่เท่านั้นจะทำได้ การเสียสละจะเปิดพื้นที่ในหัวใจ เมื่อเปิดพื้นที่ในหัวใจอะไรที่คิดว่าเป็นไปไม่ได้ ก็เป็นไปได้ การคิดเอาชนะเป็นการปิดพื้นที่ในหัวใจ

๒.คิดรวมกันแทนที่จะคิดแยกกัน  ตัวอะมีบ้าซึ่งเป็นสัตว์เซลล์เดียว ยามปรกติมันจะแยกๆ กันอยู่ แต่ยามวิกฤตมันจะรวมตัวกันเป็นกระจุกเพื่อช่วยกันฝ่าวิกฤต เราเป็นคนอย่าให้แพ้อะมีบ้า ยามวิกฤตเราต้องรวมตัวกันเพื่อฝ่าวิกฤตให้ได้ แทนที่จะคิดเชิงขั้วตรงข้าม เช่น พปช. กับ ปชป. ร่วมกันได้ไหมถ้า พปช. ปชป. พธม. นปก. หรือเราทั้งหมดร่วมกัน บ้านเมือง่จะมีทางออกอย่างอัศจรรย์

นี่เป็นการเปลี่ยนมุมมองและวิถีคิดโดยสิ้นเชิง แทนที่จะมองฝ่ายตรงข้ามเป็นศัตรู แท้ที่จริงเราล้วนเป็นเพื่อนมนุษย์เป็นเพื่อนคนไทยด้วยกัน อาจมีผิดบ้างถูกบ้าง ชอบใจบ้างไม่ชอบใจบ้าง แต่สิ่งที่ใหญ่กว่าคือ ความเป็นเพื่อนมนุษย์ ความรักในเพื่อนมนุษย์

พระพุทธองค์ไม่ทรงเกลียดหรือโกรธมนุษย์ที่มีกิเลส ไม่ทรงเกลียดหรือโกรธองคุลีมาล ทรงสอนว่าเมตตาเป็นเครื่องค้ำจุนโลก  เราป็นคนต้องมีเมตตาในหัวใจ เราจะใช้แต่เหตุผลเท่านั้นไม่พอ เพราะเหตุผลมักนำเราไปสู่การการแยกข้างแยกขั้วและความขัดแย้ง ความเมตตาจะเปิดพื้นที่ในหัวใจไปสู่การร่วมกันและการเยียวยา

๓.คิดเยียวยาแทนที่จะหาใครผิดใครถูก ผมเป็นประธานคณะกรรมการกองทุนสมานฉันท์แห่งชาติ เพื่อการเยียวยาผู้ที่ได้รับความสูญเสียจากเหตุการณ์รุนแรงในจังหวัดชายแดน ภาคใต้ เราเยียวยาโดยไม่เลือกข้าง ไม่ถามหาเหตุผล ไม่สนใจคามถูกผิด เยียวด้วยหัวใจมนุษย์ลูกเดียว พบว่าแนวคิดและการปฏิบัติเชิงเยียวยานั้นให้พลังแห่งการฟื้นฟูมาก

ที่เมืองซินซินาติ สหรัฐอเมริกา หลายปีมาแล้วตำรวจคนขาวไปตีคนดำแล้วเรื่องบานปลายกลายเป็นความขัดแย้ง ระหว่างคนขาวกับคนดำ เมื่อเรื่องมาถึงศาลผู้พิพากษากล่าวว่า "ผมตัดสินอย่างใด ๆ" พวกคุณก็ไม่หายขัดแย้งกัน คุณไปใช้ "กระบวนการ" คลายความขัดแย้ง ความยุติธรรมไม่ได้มีแต่การตัดสินลงโทษ แต่มีความยุติธรรมเชิงเยียวยา (Restorative Justice) อีกด้วย การลงโทษโดยใช้อำนาจบางทีก็คลายความขัดแย้งไม่ได้

เวลานี้คนไทยแตกแยกกันอย่างรุนแรงเพราะวิธีคิดแบบแยกข้างแยกขั้ว เราจะต้องออกจากสภาพอย่างนี้ไปสู่การเยียวยาซึ่งกันและกัน ไปสู่ความเมตตา ไปสู่การรวมตัว ไปสู่การเสียสละ ด้วยวิถีคิดใหม่

.วิถีคิดใหม่เชิงพุทธและวิทยาศาสตร์ใหม่  วิถีคิดเก่าคือวิถีคิดเชิงอำนาจ แบบแยกข้างแยกขั้ว แบบเอาชนะคะคาน ชาวตะวันตกวิถีคิดแบบแยกข้างแยกขั้วมากกว่าชาวตะวันออก วิทยาศาสตร์เก่าก็มองธรรมชาติแบบสรรพสิ่งแบบตายตัว  ซึ่งนำไปสู่การแยกส่วน สุดโต่ง และรุนแรง อารยธรรมวัตถุนิยมบริโภคนิยมเงินนิยมได้พาไปสู่การคิดเชิงอำนาจและความแตก แยกมากขึ้น

วิถีคิดแบบพุทธไม่มองแบบตายตัว (นิจจัง) แต่มองเล่าสรรพสิ่งเป็นอนิจจังคือเชื่อมโยง เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงตามเหตุปัจจัย ไม่แยกข้างขั้วเข้าไปสู่สภาวะสุดโต่ง คำว่า "ส่วนสุด" หรืออันตา เป็นคำที่น่ารังเกียจในพุทธวิถี  ดังพระพุทธดำรัสว่า "ตถาตคไม่เข้าใกล้ส่วนสุดทั้งสอง ตถาคตจะสอนทางสายกลาง วิทยาศาสตร์ใหม่ได้ค้นพบความเป็นจริงที่พระพุทธเจ้า ค้นพบมากว่า ๒๕๐๐ ปี ว่าสรรพสิ่งล้วนชื่อมโยงและเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไม่มีตัวตนที่คงที่

เราถล้ำเข้าไปสู่วิถีคิดแบบตายตัวแยกส่วนมากขึ้นเรื่อยๆ จนวิกฤตไม่มีทางออก วิถีคิดแบบนี้นำไปสู่ความบีบคั้น แตกแยก รุนแรง องค์กรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทางการเมืองราชการ การศึกษา ธุรกิจ และศาสนา  ล้วนอยู่บนฐานวิถีคิดแบบเก่าจึงนำไปสู่ความบีบคั้น แตกแยก รุนแรง  ถึงเวลาที่คนไทยจะทำความเข้าใจวิถีคิดแบบทางสายกลาง และวิทยาศาสตร์ใหม่ อย่างจริงจังเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน (transformation) ใน ๓ ระดับ คือ ระดับตัวบุคคล ระดังองค์กร และระดับสังคม เราจึงจะพ้นวิกฤต

๕. ออกจากภพภูมิเก่าไปสู่ภพภูมิใหม่ 

วิกฤตเศรษฐกิจโลกขณะนี้ควรจะเป็นโอกาสให้คนไทยมีวิถีคิดใหม่  ถ้าเราตามเขาไปเรื่อยๆ เราก็จะวิกฤตจนตกเป็นทาส  ความจริงประเทศไทยมีเศรษฐกิจจริงที่แข็งแรง  เพราะเราผลิตอาหารได้เหลือกินทำอย่างไร ๆ เขาก็ไม่อดตายถ้าเราอยู่กับฐานความจริง วิกฤตเศรษฐกิจโลกเกิดจากเศรษฐกิจ มายาคติในเรื่องเงิน  ถ้าเราอยู่ในมายาคติกับเราด้วยเราจะถูกเขาปล้นไปหมดจนตกเป็นทาส คนไทย ต้องรักกัน รวมตัวกัน พัฒนาจากฐานความจริงด้วยปัญญา เราสามารถสร้างสังคมที่มีความเป็นธรรมที่คน ไทยทุกคนเป็นพลเมืองชั้น ๑ คือมีศักดิ์ศรีและคุณค่าแห่งความเป็นคนเท่าเทียมกัน และมีส่วนร่วมในการพัฒนาที่เกิดความเท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ ทางสังคม และทางกฎหมาย  ทุกคนต้องสามารถเข้าถึงการใช้ทรัพยากรอย่างเป็นธรรม

วิถีคิดใหม่จะนำเราไปสู่สังคมใหม่  สังคมที่เป็นอารยะประชาธิปไตยที่คนไทยทุกคนมีศักดิ์ศรีและคุณค่าแห่งความ เป็นคนอย่างเท่าเทียมกัน  ไม่มีใครเป็นพลเมืองชั้น ๒ ต่อเมื่อคนไทยทุกคนเป็นพลเมืองชั้น ๑ สังคมไทยจึงจะลงตัว เกิดศานติสุข จนอาจบรรลุยุคศรีอาริยะได้

คนไทยต้องมีความฝันอันใหญ่ร่วมกัน ว่าคนไทยพ้นทุกข์ร่วมกันได้  เราสามารถสร้างสังคมไทยที่มีความร่มเย็นเป็นสุขได้ ถ้าเราออกจากวิถีคิดเก่า ๆ ไปสู่พุทธวิถีแห่งทางสายกลางและวิทยาศาสตร์ใหม่

No comments: