แก่นแท้ของพระพุทธศาสนา
อริยสัจ 4 คลอบคลุมหลักการของพระพุทธศาสนาทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น
· หลัก "เว้นชั่ว ทำดี ทำใจให้บริสุทธิ์"
· หลัก "ธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น"
· หลัก "เราบัญญัติแต่ทุกข์และความดับทุกข์"
· หลัก "อิทัปปัจจยตาปฏิจจสมุปบาท กับนิพพาน"
ทุกหลักรวมอยู่ในหลักอริยสัจ 4 ทั้งนั้น
เมื่อรู้ว่าอะไรเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาแล้ว ก็เท่ากับจับจุดได้ว่าจะต้องเจาะจงลงไปหาแก่นในนั้น
ขอย้ำว่า "อริยสัจ 4" คือหลักที่โยงความจริงในธรรมชาติ มาสู่การใช้ประโยชน์ของมนุษย์ เพราะลำพังกฎธรรมชาติเอง มันมีอยู่ตามธรรมดา ถ้าเราไม่รู้วิธีปฏิบัติ ไม่รู้จุดที่จะเริ่มต้น ไม่รู้ลำดับเราก็สับสน
พระพุทธเจ้าทรงต้องการให้เราได้ประโยชน์จากกฎธรรมชาติโดยสะดวก จึงนำมาจัดรูป
ตั้งแบบ วางระบบไว้ให้ เรียกว่า อริยสัจ 4 โดยทำลำดับให้เห็นชัดเจน เป็นได้ทั้งวิธีสอน ทั้งวิธีแก้ปัญหาและวิธีที่จะลงมือทำการต่างๆ เมื่อทำตามหลักอริยสัจ 4 ความจริงของธรรมดาที่ยาก ก็เลยง่ายไปหมด
ความจริงมีอยู่ตามธรรมดา พระพุทธเจ้า ก็มาค้นพบและเปิดเผย
ต่อไปนี้เมื่อจะดู "แก่นแท้ของพระพุทธศาสนา" ก็ต้องดูที่หลักความจริงอีก เริ่มด้วยข้อแรกมองว่าพระพุทธศาสนามีท่าทีหรือทัศนะต่อความจริงอย่างไร คือมองดูโลก มองดูธรรมชาติและชีวิตอย่างไร พูดสั้นๆ ว่า พระพุทธศาสนามองความจริงของสิ่งทั้งหลายอย่างไร
จุดเริ่มต้นนี้ชัดอยู่แล้วในพุทธพจน์ ที่พระสวดอยู่เสมอในงานอุทิศกุศลว่า
"อุปฺปาทา วา ภิกฺขเว ตถาคตาน อนุปฺปาทา วา ตถาคตาน ฐิตา ว สา ธาตุ..." มีเนื้อความว่า "ตถาคตคือพระพุทธเจ้า จะเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้นก็ตาม ความจริงก็คงอยู่เป็นกฎธรรมดา เป็นความแน่นอนของธรรมชาติ ว่าดังนี้ ๆ"
นี่คือการมองความจริงตามแบบของพระพุทธศาสนา พุทธพจน์นี้เป็นหลักพื้นฐาน เราควรจะเริ่มต้นด้วยหลักนี้ นั่นก็คือพระพุทธศาสนามองสิ่งทั้งหลายเป็นเรื่องของธรรมชาติและกฎธรรมชาติ เป็นความจริงที่เป็นอยู่อย่างนั้นตามธรรมดาของมัน ไม่เกี่ยวกับการเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้า
ในพุทธพจน์นี้เอง พระพุทธเจ้าตรัสต่อไปว่า "ตถาคตมารู้ความจริง ค้นพบความจริงนี้แล้ว จึงบอกกล่าว เปิดเผย แสดง ชี้แจง ทำให้เข้าใจง่าย ว่าดังนี้ ๆ"
พุทธพจน์ตอนนี้บอกฐานะของพระศาสดาว่า ฐานะของพระพุทธเจ้า คือผู้ค้นพบความจริง แล้วนำความจริงนั้นมาเปิดเผยแสดงให้ปรากฏ พระพุทธเจ้าไม่ใช่เป็นผู้บัญญัติหรือเป็นผู้สร้างผู้บันดาลอะไรขึ้นมาจากความไม่มี พระองค์เพียงแต่แสดงความจริงที่มีอยู่ การที่พระองค์บำเพ็ญบารมีทั้งหลาย ก็เพื่อมาตรัสรู้ เข้าถึงความจริงอันนี้ที่มีอยู่ตามธรรมดา
ความจริงนี้มีอยู่ตามธรรมดาตลอดเวลา ไม่มีใครเสกสรรบันดาล (ไม่มีผู้สร้าง เพราะถ้ามีผู้สร้าง ก็ต้องมีผู้ที่สร้างผู้สร้างนั้น ถ้าผู้สร้างมีเองได้ก็แน่นอนเลยว่า สภาวธรรมก็มีอยู่ได้โดยไม่ต้องมีผู้สร้าง) มันไม่อยู่ใต้อำนาจบังคับบัญชาของใคร ไม่มีใครบิดผันเปลี่ยนแปลงมันได้ ผู้ใดมีปัญญาจึงจะรู้เข้าใจและใช้ประโยชน์มันได้
ปัญหาอยู่ที่ว่า เราไม่มีปัญญาที่จะรู้ เมื่อเราไม่รู้ความจริงที่เรียกว่ากฎธรรมชาตินี้ เราก็ปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายไม่ถูกต้องเพราะสิ่งทั้งหลายเป็นไปตามความจริงของมัน เมื่อเราไม่รู้ความจริงของมัน เราก็ปฏิบัติต่อมันไม่ถูก จึงเกิดปัญหาต่อตัวเราเอง
เพราะฉะนั้น การรู้ความจริงของธรรมชาติจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง เมื่อเรารู้แล้ว เราก็จะปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายได้ถูกต้องเหมือนกับในทางวิทยาศาสตร์ฝ่ายวัตถุ ที่ค้นพบความจริงคือกฎธรรมชาติบางอย่างหรือบางส่วน เมื่อ ค้นพบแล้วก็นำเอากฎธรรมชาติส่วนนั้นมาใช้ทำอะไรต่างๆ ได้ เช่นการสร้างสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ ตั้งแต่เรือกลไฟ รถยนต์ รถไฟ เรือบิน ตลอดจนคอมพิวเตอร์ได้ ก็มาจากการรู้ความจริงของกฎธรรมชาติทั้งนั้น เมื่อรู้แล้วก็จัดการมันได้ เอามันมาใช้ประโยชน์ได้ ถ้าไม่รู้ ก็ตัน ติดขัด มีแต่เกิดปัญหา
เรื่องนี้ก็ธรรมนองเดียวกับวิทยาศาสตร์ แต่วิทยาศาสตร์เอาแค่ความจริงของโลกวัตถุ ส่วนพระพุทธศาสนามองความจริงของโลกและชีวิตทั้งหมด
รวมความว่า พระพุทธศาสนามองความจริงของสิ่งทั้งหลายว่าเป็นเรื่องของธรรมชาติที่มีอยู่และเป็นไปตามธรรมดาของมันแล้วพระพุทธเจ้ามาค้นพบ แล้ว ก็ทรงทำให้เข้าใจง่ายขึ้นโดยมีวิธีจัดรูปร่างระบบแบบแผนให้เรียนรู่ได้สะดวก และวางเป็นกฎเกณฑ์ต่างๆ นี่ก็คือการจับเอาหลักการของความจริงนั้นเอง มาจัดเป็นระบบมากขึ้น เพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจของเรา
ชื่อผู้แต่ง : พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต)
ชื่อหนังสือ : แก่นแท้ของพระพุทธศาสนา
สำนักพิมพ์ : โรงพิมพ์การศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ
ปีที่พิมพ์ : 2543
No comments:
Post a Comment