Sunday, December 14, 2008

ความรัก ความสุข ความทุกข์

ความรัก  ความสุข  ความทุกข์

 

และความหลุดพ้น

 

โดยพระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)

 

 

สุขนี้มีหลายแบบหรือหลายระดับ คือ

1. สุขแบบแย่งกัน

2. สุขแบบไปด้วยกัน หรือสุขแบบประสานกัน

3. สุขแบบอิสระ

 

(1) สุขแบบแย่งกัน คือ ถ้าเขาสุขเราก็ทุกข์ ถ้าเราสุขเขาก็ทุกข์

โดยมากจะเป็นความสุขประเภทที่เกี่ยวกับวัตถุ

ความสุขที่เกี่ยวกับวัตถุนั้นต้องได้ต้องเอา

พอเราได้มาเราสุข คนอื่นเสียหรือไม่ได้ เขาก็เกิดความทุกข์

แต่พอเขาได้ เราเสียไม่ได้ เขาสุขเราก็ทุกข์

ความสุขอย่างนี้ไม่เอื้อต่อกัน ยังก่อปัญหา

 

ยิ่งมองกว้างออกไปในสังคม

เมื่อมนุษย์ทั้งหลาย ต่างก็หาความสุขจากการได้และการเอา

ก็แย่งชิงเบียดเบียนกัน สังคมก็เดือดร้อนวุ่นวาย

ในที่สุดก็มีแต่ความทุกข์ความเดือดร้อนแผ่ไปทั่ว

ทุกคนแย่งกันสุข เลยต้องทุกข์กันทั่วไปหมด ไม่มีใครได้ความสุข

เพราะฉะนั้นจึงต้องมีความสุขที่พัฒนาต่อไป

 

(2) ความสุขขั้นที่สอง คือความสุขที่ประสานกัน ช่วยกันสุข

ถ้าเราสุขก็ทำให้เขาสุขด้วย นี่ก็คือความสุขที่เกิดจากการพัฒนาจิตใจ

โดยเฉพาะก็คือ ความรักแท้

ความรักแท้คือ ความปรารถนาจะให้ผู้อื่นเป็นสุข แต่ต้องระวังแยกให้ดี

เพราะความรักนี้เป็นศัพท์ที่คลุมเครือหน่อย

ความรักนั้นมี 2 อย่างคือ รักแท้ กับรักเทียม

ความรักประเภทที่เราต้องการคือ ความรักแท้ ได้แก่

ความปรารถนาให้ผู้อื่นเป็นสุข อันนี้เป็นความหมายที่สำคัญของคำว่า ความรัก

และความรักประเภทนี้มีชื่อพิเศษเรียกว่า เมตตา

เมตตาหรือความรักที่ต้องการให้ผู้อื่นเป็นสุข

ส่วนความรักอีกอย่างหนึ่งนั้นตรงกันข้าม

คือ ความรักที่อยากเอาคนอื่นมาบำเรอความสุขของเรา

ความรักที่ต้องการเอาคนอื่นมาทำให้เราเป็นสุข ความรักที่ต้องการครอบครอง

อันนี้ก็จัดเข้าในจำพวกความสุขจากการที่ต้องได้ต้องเอา

เป็นความสุขแบบแย่งกันเหมือนกับที่พูดแล้ว

 

ความรักแท้ต้องการให้คนอื่นเป็นสุข

จะเห็นได้ง่ายๆ เหมือนความรักของพ่อแม่

พ่อแม่รักลูกก็คือ อยากให้ลูกเป็นสุข

ถ้าเราอยากให้ลูกเป็นสุข เราก็ต้องพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้ลูกเป็นสุข

เพื่อจะได้เห็นลูกมีความสุข พอเห็นลูกมีความสุข พ่อแม่ก็มีความสุขด้วย

 

จะเห็นได้ว่า พ่อแม่อยากเห็นลูกเป็นสุข ก็เลยต้องพยายามทำให้ลูกเป็นสุข

ตอนแรกลูกต้องการวัตถุสิ่งของเช่น อาหาร หรือสิ่งที่จะดู จะฟัง เป็นต้น

พ่อแม่ก็หาวัตถุเหล่านั้นมาให้แก่ลูก เมื่อให้แก่ลูก พ่อแม่ก็ต้องสละ

การสละนั้น ตามปกติจะทำให้ไม่สบายเป็นทุกข์ เพราะอะไร

เพราะว่าเราเสียแต่พ่อแม่ให้แก่ลูกก็ไม่ทุกข์ พ่อแม่ไม่ทุกข์

แต่กลับสุขด้วยเพราะอะไร เพราะอยากให้ลูกเป็นสุข และอยากเห็นลูกเป็นสุข

พอสละให้เงินให้ทองให้ของแก่ลูกแล้ว เห็นลูกมีความสุข พ่อแม่ก็มีความสุขด้วย

ก็เลยกลายเป็นว่า การให้ หรือการสละนี้เป็นความสุขได้เหมือนกัน

ตามปกติเรานี้ จะต้องได้ต้องเอา จึงจะเป็นสุข ถ้าให้ต้องเสียก็ทุกข์

แต่พอมีความรัก คือ เมตตาขึ้นแล้ว การให้ก็กลายเป็นความสุขได้ทีนี้

พอเราให้ เขาเป็นสุข เราเห็นเขาเป็นสุขสมใจเรา เราก็สุขด้วย

แสดงว่าความสุขของบุคคลทั้งสองนี้ อาศัยซึ่งกันและกัน

เป็นความสุขแบบประสาน คือร่วมกันสุข หรือสุขด้วยกัน ไม่ใช่ความสุขแบบแย่งกัน

 

ทั้งโลกจะสุขสันต์ เมื่อคนมีสุขแบบประสาน

 

ถ้าเราพัฒนาจิตใจอย่างนี้แบบขยายความรักความเมตตาออกไป

เราก็สามารถมีความสุขเพิ่มขึ้น โดยที่คนอื่นก็มีความสุขด้วย

อย่างนี้ก็เป็นความสุขที่ประกอบด้วยธรรม

ถ้าความสุขอย่างนี้เกิดขึ้นมาก ก็ทำให้โลกนี้มีสันติสุข

เริ่มตั้งแต่ในครอบครัวเป็นต้นไป

พ่อแม่อยากให้ลูกเป็นสุข สละให้แก่ลูกแล้วพ่อแม่ก็เป็นสุขด้วย

ทีนี้ถ้าลูกรักพ่อแม่เหมือนอย่างที่พ่อแม่รักลูก

ลูกก็จะทำแก่พ่อแม่อย่างเดียวกับที่พ่อแม่ทำให้แก่ตนเอง

คือ ลูกพยายามทำให้พ่อแม่เป็นสุข

เมื่อลูกพยายามทำให้พ่อแม่เป็นสุข ลูกก็ให้แก่พ่อแม่

ลูกก็พยายามรับใช้ ทำอะไรต่างๆ ให้พ่อแม่มีความสุข

พอลูกเห็นพ่อแม่มีความสุข ลูกก็สุขด้วย

ความสุขของลูกก็ประสานกับสุขของพ่อแม่

ถ้าอย่างนี้ก็มีแต่ความสุขสันติ์ร่มเย็นยิ่งขึ้น ในครอบครัวก็เป็นสุข

 

ขยายออกไป ในหมู่เพื่อนฝูงญาติมิตรก็เหมือนกัน

ถ้าญาติมิตรเพื่อนฝูงให้แก่กัน หรือทำอะไรให้กัน

โดยอยากจะให้ญาติหรือเพื่อนเป็นสุข

พอเห็นญาติหรือเพื่อนเป็นสุขตัวเองก็เป็นสุขด้วย

เมื่อความสุขแบบประสานกันอย่างนี้กว้างออกไปๆ

โลกนี้ก็ร่มเย็น และมีการช่วยเหลือกัน การอาศัยกันได้

วัตถุสิ่งของต่างๆ ก็จะกลายเป็นเครื่องประกอบที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลกันและกัน

อันนี้ก็เป็นความสุขอย่างหนึ่งที่ชอบธรรม

รวมแล้วความสุขที่พัฒนายิ่งขึ้นไปมีอยู่มากมาย

......................................................

 

เป็นอันว่า ในขั้นต้น มนุษย์เรามีความสุขจากการได้การเอา

จึงแย่งความสุขกัน แต่เมื่อพัฒนาไปพอถึงขั้นที่ 2 จิตใจมีคุณธรรม

เช่น เมตตา มีไมตรี มีศรัทธา

การให้กลายเป็นความสุข ก็เกิดความสุขจากการให้

จึงเปลี่ยนเป็นความสุขที่ประสานส่งเสริมอุดหนุนซึ่งกันและกัน

มนุษย์เราก็พัฒนาต่อไปในเรื่องความสุข แล้วก็ทำให้ทั้งชีวิต

และทั้งโลกนี้มีความสุขมากขึ้นด้วย แต่รวมความก็คือว่า

เราต้องพยายามทำตัวให้มีความสุขโดยถูกต้อง

ถ้าทำได้อย่างนี้ก็เป็นการมีความสุขโดยชอบธรรม

 

แม้แต่สุขที่ชอบธรรม ถ้าปฏิบัติผิด สุขก็กลายเป็นเสื่อม

 

พระพุทธเจ้าตรัสว่า ถ้าเป็นความสุขโดยชอบธรรมแล้วเรามีสิทธิ์เสวย

ไม่ต้องไปสละละทิ้ง แต่ท่านสอนไม่ให้หยุดแค่นี้

เพราะถ้าเราปฏิบัติผิด พอเรามีความสุขแล้ว

เราก็อาจจะพลาดจุดที่จะพลาดอยู่ตรงนี้คือ

เรามีสิทธิ์ที่จะสุข และเราก็สุขแล้ว

แต่เราเกิดไปหลงเพลิดเพลินมัวเมา พอเราหลงเพลินมัวเมา

ความสุขนั้นก็จะกลับกลายเป็นปัจจัยของความทุกข์ได้ พอถึงตอนนี้ก็จะเสีย

เพราะฉะนั้นความสุขนั้นเราจะต้องรู้ทันด้วย

 

ความสุขก็เป็นโลกธรรมอย่างหนึ่ง คือ มันเกิดขึ้นแล้ว ก็ตั้งอยู่และดับไป

เป็นอนิจจัง เปลี่ยนแปลงได้

ถ้าเรารู้ทันความจริงนี้ เมื่อสุขเราก็เสวยสุขนั้น โดยชอบธรรม

แต่เราไม่หลงมัวเมาในความสุขนั้น เ

มื่อรู้เท่าทันไม่หลงมัวเมาแล้วมันก็ไม่เป็นปัจจัยให้เกิดทุกข์

แต่ถ้าเราหลงมัวเมา สุขก็เป็นปัจจัยแก่ทุกข์

อย่างน้อยก็ทำให้ติด แล้วก็เพลิดเพลินหลงมัวเมา

ไม่ทำอะไร ทำให้เกิดความประมาท

 

คนที่คิดว่าเราสุขแล้ว เราสำเร็จแล้ว เราเก่งแล้ว เราดีแล้วนี้

พระพุทธเจ้าตรัสเตือนไว้ว่า จะเป็นเหตุให้เกิดความประมาท

เพราะเกิดความพอใจก็ได้แต่มีเสวยความสุขและความสำเร็จนั้น

ไม่ทำอะไรที่ควรจะทำต่อๆ ไป หรือให้ยิ่งขึ้นไป

มีกิจหน้าที่อะไรที่ควรทำก็ไม่ทำ

อะไรเกิดขึ้นควรตรวจตราแก้ไข หรือจัดดำเนินการ ก็ปล่อยก็ละเลย

มีแต่หลงในความสุขกลายเป็นทางของความประมาท แล้วก็เป็นความเสื่อมต่อไป

...............................

เพราะฉะนั้นต้องแสวงหาความสุขด้วยความรู้เท่าทัน

แล้วความรู้เท่าทันที่เป็นตัวปัญญานี้ จะป้องกันไม่ให้สุขนั้นเกิดพิษเกิดภัย

มันจะป้องกันเหตุร้าย ภัยพิบัติ และความเสื่อมได้ทั้งหมด

นี่ก็คือ การเสวยสุขโดยไม่ประมาทนั่นเอง

 

สิ่งทั้งหลายก็ทุกข์ต่อไปตามเรื่องของธรรมชาติ

แต่ใจเราเป็นอิสระมีสุขที่สมบูรณ์

 

สิ่งทั้งหลายที่เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

มีความเปลี่ยนแปลงเป็นไปต่างๆ มันก็ต้องเป็นอย่างนั้นเป็นธรรมดา

เพราะมันอยู่ในกฎธรรมชาติอย่างนั้น ไม่มีใครไปแก้ไขได้

แต่ที่มันเป็นปัญหาก็เพราะว่า

ในเวลาที่มันแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปตามกฎธรรมชาตินั้น

มันพลอยมาเบียดเบียนจิตใจของเราด้วย เพราะอะไร

เพราะเรายื่นแหย่ใจของเราเข้าไปด้วย

อิทธิพลความผันผวนปรวนแปรของธรรมชาตินั้นด้วย

ดังนั้น เมื่อสิ่งเหล่านั้นปรวนแปรไปอย่างไร

ใจของเราก็พลอยปรวนแปรไปอย่างนั้นด้วย

เมื่อมันมีอันเป็นไปใจของเราก็ถูกบีบคั้นไม่สบาย

 

แต่พอเรารู้เท่าทันถึงธรรมดาแล้ว

กฎธรรมชาติก็เป็นกฎธรรมชาติ

สิ่งทั้งหลายที่เป็นธรรมชาติ ก็เป็นไปตามกฎธรรมชาติ

ทำไมเราจะต้องเอาใจของเราไปให้กฎธรรมชาติบีบคั้นด้วย

เราก็วางใจของเราได้

ความทุกข์ที่มีในธรรมชาติก็เป็นของธรรมชาติไป

ใจของเราไม่ต้องเป็นทุกข์ไปด้วย

ตอนนี้แหละ ที่ท่านเรียกว่ามีจิตใจเป็นอิสระ

 

จนกระทั่งว่า แม้แต่ทุกข์ที่มีในกฎของธรรมชาติ

ก็ไม่สามารถมาเบียดเบียนบีบคั้นใจเราได้

เป็นอิสรภาพแท้จริง ที่ท่านเรียกว่า วิมุตติ

 

Image

คัดลอกจากหนังสือ "ความสุขที่สมบูรณ์"

โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

http://www.budpage.com/

 

No comments: