Sunday, December 14, 2008

การบริหารความเสี่ยงตามนัยพุทธธรรม

การบริหารความเสี่ยงตามนัยพุทธธรรม

 

 (Risk Management in the Buddha's Teaching)

 

ธนภณ สมหวัง

 

ปัจจุบันมีการพูดถึงการบริหารความเสี่ยง (Risk Management) ในองค์กรและหน่วยงานต่างๆ เป็นจำนวนมาก  ทั้งนี้อาจจะเนื่องมาจากกระแสต่างๆ เป็นจำนวนมากเข้ามากระทบ  และมีทั้งระดับความรวดเร็วและรุนแรง  ดังนั้น  จึงทำให้เกิดความเสี่ยง คือ "โอกาสหรือเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ที่จะทำให้เราไม่บรรลุวัตถุประสงค์ได้  กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ  เราสูญเสียความมั่นใจในการที่จะก้าวไปสู่เป้าหมาย  หรือเสี่ยงต่อการบรรลุเป้าหมายที่เราต้องการ

 

ในการบริหารสมัยใหม่  จึงมีการกำหนดวัตถุประสงค์/เป้าหมายขององค์กรอย่างชัดเจน  และมีการระบุความเสี่ยงต่างๆ ที่(คาดว่า)จะส่งผลกระทบต่อการบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ หรือการกำหนดเหตุปัจจัยต่างๆ ที่ไม่พึงประสงค์  และมีการวางแผนและติดตามตรวจสอบตามแผนที่ได้วางไว้อย่างสม่ำเสมอ  ซึ่งเรียกรวมๆ ได้ว่า การบริหารความเสี่ยง

 

เมื่อพิจารณาจากแนวคิดทางพระพุทธศาสนาแล้ว  จะพบว่า  พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งการบริหารความเสี่ยงที่ชัดเจน  ทั้งนี้จะเห็นได้ว่า  พระพุทธศาสนามีหลักคำสอนที่เน้นใน  2  ระดับ คือ

 

                1.  สัจธรรม           ความเป็นจริงของสรรพสิ่ง หรือส่วนที่แสดงสภาวะหรือสอนเกี่ยวกับสภาวะของสิ่งทั้งหลาย  หรือธรรมชาติและความเป็นไปโดยธรรมดาของสิ่งทั้งหลาย  หรือเรียกง่ายๆ ว่า สอนกฎธรรมชาติ

 

                2.  จริยธรรม          ความรู้หรือการนำเอาความรู้ในสัจธรรมมาใช้ในการดำเนินชีวิต

 

ในระดับสัจธรรม  จะเห็นได้ว่า  เป็นสิ่งที่พระพุทธศาสนาให้ความสำคัญมากที่จะช่วยให้มนุษย์เข้าใจได้ว่า  ธรรมชาติมีสภาวะที่ไม่เที่ยง  ไม่คงที่  เป็นสภาวะที่ถูกบีบคั้นด้วยการเกิดและการสลายตัว  ฝืนและขัดแย้งกันอยู่ในตัว  ทั้งนี้ก็เพราะความไม่มีตัวตนหรือสรรพสิ่งไม่มีตัวตนที่แท้จริงนั่นเอง

 

สิ่งทั้งหลายที่เราพบเห็น  หากจะกล่าวว่ามี  ก็ต้องว่ามีอยู่ในรูปของกระแส  ที่ประกอบด้วยปัจจัยต่างๆ อันสัมพันธ์เนื่องอาศัยกัน  เกิดดับสืบต่อกันต่อไปอยู่ตลอดเวลาไม่ขาดสาย  ดังชีวิตของบุคคล  พระพุทธศาสนาก็มองว่า เกิดจากการรวมกันขององค์ประกอบต่างๆ ที่เรียกว่า ขันธ์ 5  นั่นเอง

 

การบริหารความเสี่ยงตามนัยพุทธธรรม  จึงมีประเด็นสำคัญอยู่ที่การที่มนุษย์เข้าถึงความจริงของธรรมชาติที่ว่านี้ (สัจธรรม)  แล้วปฏิบัติต่อความจริงนี้อย่างถูกต้อง  นั่นคือ พระพุทธศาสนามองความจริงว่า สรรพสิ่งล้วนแต่เปลี่ยนแปลงไปตามกฎของไตรลักษณ์ (อนิจจัง  ทุกขัง  อนัตตา)  แต่กระบวนการในการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้  มิได้เปลี่ยนแปลงหรือเกิดขึ้นอย่างเลื่อนลอย  หากแต่เปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัยต่างๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้อง (causes and conditions) ถ้าหากเราต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี  เราก็สร้างเหตุปัจจัยต่างๆ ที่จะนำไปสู่ความดี  ในขณะเดียวกัน  เราก็สามารถจัดการกับเหตุปัจจัยต่างๆ ที่จะนำไปสู่สิ่งที่ไม่ดีได้

 

การเข้าถึงความจริงของสรรพสิ่ง (สัจธรรม)  จึงทำให้เราสามารถบริหารความเสี่ยงได้ (จริยธรรม)

No comments: